Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

หลักเพื่อความพ้นทุกข์

สารบัญ

บทความนี้เป็นบทสรุปสิ่งที่จำเป็นต้องรู้จริง ๆ เพื่อความดับทุกข์ในมุมมองของพุทธศาสนา จุดประสงค์หลักของการเขียนบทนี้คือเพื่อต้องการจะหาธรรมะกำมือเดียวที่ควรรู้จริง ๆ ความพยายามนี้มีการริเริ่มมาตั้งแต่อดีต การเกิดขึ้นของพระอภิธรรมอาจจะมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มที่จะสรุปเนื้อหาส่วนสำคัญที่กระจัดกระจายรวมไว้ในที่เดียว แต่ผลที่ได้กลับมากมายซับซ้อนจนไม่อาจเรียกว่าธรรมะกำมือเดียว

คัมภีร์วิสุทธิมรรคก็มีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นการสรุปเนื้อหาสำคัญของพุทธศาสนาไว้ในที่เดียว แนวการนำเสนอของวิสุทธิมรรคจะแบ่งเป็นสามภาคตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา อิทธิพลของวิสุทธิมรรคต่อขนบเถรวาทเห็นได้ชัดเจนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ แต่เนื้อหาในคัมภีร์นี้ก็มากอยู่ดี เหมาะกับผู้เรียนในสถานศึกษามากกว่าผู้ถือปฏิบัติเพียงเพื่อจะพ้นทุกข์ เพราะมีเนื้อหามากมายที่ไม่จำเป็นต้องรู้และหลายส่วนก็ตั้งอยู่บนทัศนคติที่ล้าสมัย

ใกล้เคียงกับวิสุทธิมรรคคือหนังสือพุทธธรรมของป. อ. ปยุตฺโต ที่มีเนื้อหาทันสมัยกว่ามาก พุทธธรรมไม่ได้เดินตามโมเดลไตรสิกขาของวิสุทธิมรรค แต่มีรูปแบบเฉพาะ โดยฉบับพิมพ์ล่าสุดแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามภาคคือ (1) มัชเฌนธรรมเทศนา อธิบายว่าชีวิตคืออะไรจนถึงควรให้เป็นอย่างไร อาจจะมองว่านี่เป็นภาคทฤษฎี มีเนื้อหาประมาณ 500 หน้า (2) มัชฌิมาปฏิปทา อธิบายว่าชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติ ซึ่งมีไตรสิกขารวมอยู่ด้วย ส่วนนี้มีเนื้อหาประมาณ 400 หน้า และ (3) อารยธรรมวิถี เป็นเหมือนภาคผนวกที่รวมบทความประกอบต่าง ๆ มีเนื้อหาประมาณ 250 หน้า1

แม้พุทธธรรมจะเป็นงานคุณภาพ (ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับวิสุทธิมรรค โดยบางตอน มีที่ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น อธิบายได้ร่วมสมัยและชัดเจนกว่า) แต่ก็มากอยู่ดี ธรรมะกำมือเดียวไม่ควรจะใช้คำอธิบายเป็น 1,000 หน้ากระดาษ ฉะนั้นพุทธธรรมจึงจัดอยู่ในประเภทหนังสืออ้างอิงสำหรับค้นคว้า มากกว่าจะเป็นหัวใจจริง ๆ ที่ควรรู้

ผู้ที่เสนอผลงานใกล้เคียงที่จะเรียกว่าธรรมะกำมือเดียวคือท่านพุทธทาสภิกขุ ดังที่ปรากฏใน พหุลานุสาสนี2 สรุปธรรมะที่สอนมากที่สุด (คือเรื่องขันธ์กับไตรลักษณ์) มุมมองของท่านพุทธทาสนับว่าตรงตามประวัติศาสตร์ เพราะเรื่องขันธ์มีการพูดถึงตั้งแต่เทศนาครั้งแรก (ธัมมจักกัปปวัตนสูตร) และในเทศนาครั้งที่สองที่ทำให้เกิดพระอรหันต์ชุดแรก (อนัตตลักขณสูตร) ใจความหลักก็คือเรื่องขันธ์กับไตรลักษณ์นี่เอง

แต่สิ่งที่ขาดไปในพหุลานุสาสนีคือแนวทางปฏิบัติ เป็นการเน้นแต่ภาคทฤษฎีนั่นเอง เราอาจจะรู้ว่าขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวใช่ตน แต่ก็ยังดำเนินชีวิตอย่างประมาทและไม่มีความสุข ความจริงท่านพุทธทาสท่านสอนเรื่องการปฏิบัติไว้พอสมควร (มักเรียกว่าการเห็นธรรมะ 9 ตา3) และถ้าจะศึกษางานของท่านให้ทั่วถึงก็ต้องอ่านหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ กลายเป็นว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้กลับมากที่สุด

สิ่งที่ต้องรู้ = สิ่งที่ต้องปฏิบัติ

ต่อไปจะขอนำเสนอแนวคิดของผู้เขียน จากผลงานต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าเนื้อหามักจะแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ควรรู้ (ภาคทฤษฎี) กับส่วนที่ควรปฏิบัติ (ภาคปฏิบัติ) เป็นธรรมดาที่ส่วนทฤษฎีมักจะมากเกินความจำเป็น หรือเป็นนามธรรมเกินไปจนนำมาทำจริง ๆ ไม่ได้ เพื่อทำให้ธรรมะกำมือเดียวอยู่ในกำมือจริง ๆ เราจะต้องเลือกรู้สิ่งที่สำคัญที่สุด และความรู้นี้จะต้องใช้ในการปฏิบัติเท่านั้น (ไม่ควรมีประเภท “รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม”)

ที่ว่าอะไรสำคัญที่สุดนั้นเป็นปัญหาเรื่องมุมมอง แต่ละคนก็มีสิ่งในใจกันคนละอย่าง ถ้าจะให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งผลที่ได้ก็มีหลากหลาย ถ้าให้ท่านพุทธทาสภิกขุเลือกเพียงข้อเดียวมาสอน ท่านจะบอกว่า sabbe dhammā nālaṃ abhinivesāya4 (All things are not suitable for adherence) อันนี้ก็ถูกในมุมของท่าน แต่การนำมาปฏิบัติจริง ๆ นั้นไม่ได้ง่ายเหมือนการพูดเพียงสั้น ๆ เอาเข้าจริงก็ต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกมากมาย

ในมุมมองของผู้เขียนสิ่งที่ต้องรู้ก็คือสิ่งที่ต้องปฏิบัตินั่นเอง ถ้าเราจะเลือกแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนาคงจะหนีไม่พ้นเรื่อง ไตรสิกขา ดังนั้นผู้เขียนขอสรุปง่าย ๆ ตรงนี้ว่า ไตรสิกขาคือหลักที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ควรรู้ที่สุด และเมื่อปฏิบัติตามจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์แน่นอน

ไตรสิกขา คือ หลักสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา

ศีลสมาธิปัญญาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

เรื่องไตรสิกขาหรือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ผู้เขียนได้เขียนอธิบายไว้แล้วใน “Buddhism as a Model of Self-Development” ขอให้ผู้สนใจรายละเอียดอ่านจากที่นั่น ในที่นี้จะนำเสนอเพียงส่วนสำคัญ

มีหลายคนคิดว่าศีล สมาธิ ปัญญาจะต้องเจริญเป็นลำดับไปจึงจะนำไปสู่ความหลุดพ้น5 อันนี้เป็นความเชื่อที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์ และทำไม่ได้จริง ไม่มีใครจะทำสมาธิให้สมบูรณ์โดยการทำศีลให้สมบูรณ์ก่อน และปัญญาไม่ใช่ผลผลิตสุดท้ายของสมาธิที่สมบูรณ์ ความเชื่ออย่างนี้ทำให้คำสอนของพุทธศาสนาเป็นหมัน เพราะคนจะคิดว่ายากเกินไปจนทำไม่ได้ คนจึงมักจะติดอยู่แค่ทำทาน หรือรักษาศีลตามโอกาส แล้วก็ปล่อยให้สมาธิกับปัญญาพัฒนาในชาติต่อ ๆ ไป

ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของศีล สมาธิ ปัญญาคือทั้งสามส่วนต้องโยงถึงกันหมด (ดู Triangular model of the threefold training ในบทความดังกล่าว) หมายความว่า ปัญญาต้องอาศัยทั้งศีลและสมาธิจึงจะเจริญได้ ในทำนองเดียวกัน ศีลก็ต้องอาศัยทั้งสมาธิและปัญญา สมาธิเองก็ต้องอาศัยทั้งศีลและปัญญาจึงจะพัฒนาได้ เขียนเป็นรูปง่าย ๆ ได้ดังนี้

   ปัญญา
  /    \
 /      \
ศีล --- สมาธิ

ปัญญาคือการคิดอย่างมีเหตุผล

ถ้าจะว่ากันโดยละเอียด คำอธิบายเรื่องปัญญานั้นมีมากเพราะปัญญาเป็นเหตุสำคัญในการหลุดพ้น จึงมีเนื้อหาในทางทฤษฎีมาก เหตุที่จะทำให้เกิดปัญญาก็มีคำอธิบายหลากหลาย มีผู้ปฏิบัติจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่าปัญญาเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ต้องอาศัยการรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและการเจริญสมาธิอย่างเอาเป็นเอาตายปัญญาจึงจะเกิดได้ ผู้ที่เชื่ออย่างนี้มักปฏิบัติไม่ถึงไหน

ที่ถูกต้องคือ ปัญญาเป็นสิ่งที่เราต้องนำมาใช้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรอให้เกิดขึ้น และเนื่องจากปัญญาเป็นกิจกรรมทางใจ การใช้ปัญญาจึงต้องเกิดขึ้นก่อนในกระบวนการของไตรสิกขา ทุกอย่างเริ่มที่ความคิด คือเราต้องเริ่มจากการมีเหตุผลง่าย ๆ (เช่น ชีวิตที่เป็นสุขย่อมดีกว่าชีวิตที่เป็นทุกข์) เพื่อทำให้เราพัฒนาด้านศีล (เช่น มีการควบคุมตัวเองที่เหมาะสม) ร่วมกับการพัฒนาด้านสมาธิ (เช่น การมีสติควบคุมอารมณ์และจิตใจ) เมื่อเครื่องยนต์แห่งไตรสิกขาทำงาน มันก็จะผลักดันให้ทุกด้านพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ใช้เหตุผลได้ดีขึ้น (ปัญญา) ควบคุมกายวาจาได้มากขึ้น (ศีล) และมีความสงบควบคุมจิตใจได้ดีขึ้น (สมาธิ)

สรุปง่าย ๆ คือ แม้ว่าคำอธิบายของปัญญาจะมีความพิศดารเพียงใด จุดเริ่มต้นอยู่ที่การคิดอย่างมีเหตุผล ถ้าปราศจากการใช้เหตุผลที่ดี การเริ่มต้นที่ถูกต้องย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการเริ่มด้วยปัญญาที่แท้ กระบวนการการพัฒนาจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด

แล้วอย่างไรจึงเรียกว่าการคิดอย่างมีเหตุผล อันนี้ผู้เขียนได้สรุปคร่าว ๆ ไว้ใน “การคิดอย่างมีเหตุผล” รวมทั้ง “ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการใช้เหตุผล” อย่าดูแคลนว่าเป็นแนวคิดตะวันตกเพราะความมีเหตุผลไม่มีฝ่าย (การสรุปว่าฝนตกเมื่อเห็นถนนเปียกนั้นอย่างไรก็ผิดไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัฒนธรรมใด) ที่สรุปไว้ถือว่าเก็บรวบใจความสำคัญไว้ให้สั้นที่สุด ส่วนผู้ที่สนใจเนื้อหาแบบพุทธควรจะอ่าน “วิธิคิดแบบโยนิโสมนสิการ” ในหนังสือพุทธธรรมประกอบด้วย6

ศีลคือการป้องกันอกุศลมูล

การสอนศีลธรรมนั้นยากเพราะเรื่องแบบนี้ถ้าสอนให้ตายตัว (แบบกฎหมาย) ก็ต้องอธิบายกันมาก โอกาสที่จะขัดแย้งโต้เถียงกันก็มีมากเพราะเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องบางเรื่องเส้นแบ่งระหว่าง “ผิด” กับ “ถูก” ก็บางมาก และ “ผิด” ในสถานการณ์หนึ่งกลับเป็น “ถูก” ของอีกสถานการณ์หนึ่ง (ที่แย่กว่านั้นคือ “ผิด” เมื่อคนหนึ่งทำแต่กลับ “ถูก” เมื่ออีกคนหนึ่งทำ) การสอนศีลธรรมแบบนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด

แล้วอย่างไรจึงเรียกว่า ประพฤติดี ข้อสรุปแบบพุทธที่ดูเป็นสากลที่สุดคือ การกระทำใดที่ทำโดยปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง(งมงายอย่างไร้เหตุผล) เรียกได้ว่าเป็นการทำดี7 อย่างนี้ไม่มีปัญหาต้องเถียงกัน แต่ถ้าว่ากันตามนิยามทุกคนล้วนมีโลภโกรธหลงกันทั้งสิ้นยกเว้นพระอรหันต์ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของระดับ (degree) ไม่ใช่การแบ่งขาดว่าทำอย่างนี้แล้ว “ดี” ทำอย่างนั้นแล้ว “ไม่ดี” การกระทำของบุคคลจึงมี “ดีกว่า” กับ “แย่กว่า” ถ้าเราทำด้วยโลภโกรธหลงที่รุนแรงก็เรียกว่า “แย่กว่า” คนที่ทำด้วยโลภโกรธหลงที่เบาบางกว่า

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ศีลคือการป้องกันอกุศลมูลคือโลภโกรธหลงมิให้เกิดขึ้น (มากที่สุดเท่าที่จะทำได้) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศีลวัดได้ด้วยอำนาจของการยับยั้งชั่งใจ การใช้เหตุผลที่ดีมีส่วนช่วยเรื่องนี้ได้มาก (เช่น เมื่อคิดถึงผลที่จะตามมา เราก็จะระมัดระวังมากขึ้น) แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การสั่งสมอุปนิสัยที่ส่งเสริมอกุศลมูลกันมาตั้งแต่เด็ก (ปัจจุบันดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเพราะสื่อต่าง ๆ เจริญขึ้นมาก) ในส่วนนี้แก้ได้ด้วยการปลูกฝังนิสัยใหม่ และการฝึกสมาธิทุกวันคือวิธีหนึ่งที่ดีที่สุด จะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญาเป็นการฝึกที่แยกจากกันไม่ได้

สมาธิคือการมีสติในชีวิตประจำวัน

เมื่อพูดถึงสมาธิ ชาวพุทธก็มีจินตนาการกันไปต่าง ๆ นานา คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธก็มีความเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง การสอนเรื่องสมาธิกลายเป็นเรื่องยากในสังคมพุทธเพราะเรามักจะทำให้มันยากและมักจะโยงสมาธิเข้ากับปาฏิหาริย์ทางใจต่าง ๆ เรื่องนี้ทำให้ง่ายก็ได้โดยไม่เสียความเป็นพุทธเลย คือเราต้องล้างความเชื่อเก่า ๆ เกี่ยวกับสมาธิออกก่อน แล้วเริ่มฝึกจากศูนย์ (หมายถึง zero-belief)

หัวใจของการฝึกสมาธิอยู่ที่การมีสติในชีวิตประจำวัน และการฝึกจะต้องผนวกเข้ากับกิจวัตรประจำวัน เรียกว่าเป็นการสร้างอุปนิสัยที่จะต้องทำกันทั้งชีวิต นี่คือสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่การไปเที่ยวตากอากาศเพื่อเข้าคอร์สปีละครั้งสองครั้ง เรื่องการฝึกสมาธินี้ได้อธิบายไว้แล้วสั้น ๆ ที่ “หลักสำคัญในการฝึกสมาธิ” โปรดอ่านจากที่นั่น

ทำไมสมาธิต้องฝึกทุกวัน? เหตุผลหลักคืออุปนิสัยและความคุ้นชินด้านไม่ดีที่เราสั่งสมมา จะใช้ปัญญาอย่างเดียวแก้ไม่ได้ เพราะบางครั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำอย่างนั้น ๆ ไม่ดี นำทุกข์มาให้ เราก็อดทำไม่ได้ นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เป็น ทางแก้ที่ตรงจุดคือการสร้างอุปนิสัยใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามที่จะควบคุมจิตใจ และนั่นเป็นงานโดยตรงของสมาธิ (ไม่ใช่เอาไว้หาเลขหาเบอร์ อ่านใจคนหรือช่วยให้เหาะเหินเดินบนน้ำ)

หลักเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์

  1. มีปัญญา คือ ใช้การคิดอย่างมีเหตุผล
  2. รักษาศีล คือ เว้นการกระทำที่มาจากความโลภ ความโกรธ และความหลง
  3. ฝึกสมาธิ คือ ฝึกการมีสติทุกวันจนเป็นนิสัย

ความพ้นทุกข์คือการมีสุขภาพสมบูรณ์รอบด้าน

คำสุดท้ายที่ต้องอธิบายคือ ความพ้นทุกข์ คำนี้ไม่ใช่เป้าหมายหรือความคาดหวังจากการปฏิบัติ แต่เป็นผลจากการเจริญไตรสิกขา แม้เราจะคาดหวังหรือไม่ก็ตาม เมื่อศีลสมาธิปัญญาทำหน้าที่ประสานและเหนี่ยวนำกันจนได้ผลที่ดีขึ้น ๆ ความทุกข์ของผู้ปฏิบัติก็จะลดลง ๆ จนถึงจุดที่เรียกว่า “พ้น” คือเรียกว่าไม่ว่าความทุกข์ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกเท่าใด ก็ไม่มีผลต่อจิตใจ (ไม่ได้แปลว่าความทุกข์หมดไป เพราะทุกข์ทางกาย หรือทางสังคม อย่างไรก็ยังมีอยู่)

ความพ้นทุกข์นี้ตรงตามภาษาอังกฤษว่า wholesomeness หรือ wholly-healthiness เป็นความมีสุขภาพที่สมบูรณ์ หรือดีที่สุดที่อัตภาพจะมีได้ เมื่อเราพัฒนาศีลสมาธิปัญญา เราจะเป็นคนมีสุขภาพกายดี เพราะความเหตุผลทำให้เรากินของที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหมั่นดูแลสุขภาพให้ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ศีลทำให้เรามีสุขภาพทางสังคมที่ดี เพราะเราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อย่างผาสุก และสมาธิทำให้สุขภาพจิตเราดี เมื่อทั้งหมดดีจึงเรียกว่ามีสุขภาพสมบูรณ์รอบด้าน

สรุป

การศึกษาหลักพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด เราไม่ต้องรู้จัก ธาตุ ขันธ์ อายตนะ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท หรือแม้แต่กระทั่งอริยสัจ หลักเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ มีไม่มาก ใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน แต่ใช้เวลาทำตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่ต้องการทางตรง ไม่อยากปวดหัวกับเรื่องมากมาย จับไว้เพียงเท่าที่กล่าวมาเป็นพอ และไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่เป็น “พุทธ” เพียงพอ ถ้าความเป็น “พุทธ” ที่ว่าเป็นภาระก็ปล่อยวางมันไป แต่สิ่งที่เราได้แน่นอนคือความพ้นทุกข์

เชิงอรรถ

  1. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม: ฉบับปรับขยาย, วัดญาณเวศกวัน, https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/583 

  2. พุทธทาสภิกขุ, 2540, พหุลานุสาสนี: หลักธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมากที่สุด, สุขภาพใจ หนังสือนี้เรียบเรียงจากชุดธรรมโฆษณ์เรื่องตุลาการิกธรรม เล่ม 1 (เทศนาเมื่อ 2499) ดูที่ www.dhammaghosana.org 

  3. การเห็น 9 “ตา” คือเห็น อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา และ อตัมมยตา ดูที่ www.dhammaghosana.org 

  4. Maj 1.4.390 (MN 37) 

  5. Sīlaparibhāvito samādhi mahapphalo hoti mahānisaṃso. Samādhiparibhāvitā paññā mahapphalā hoti mahānisaṃsā. Paññāparibhāvitaṃ cittaṃ sammadeva āsavehi vimuccati. (Dī 2.3.142, DN 16) แปลได้ว่า Trained by morality, concentration is rich in fruit, rich in benefit. Trained by concentration, wisdom is rich in fruit, rich in benefit. Trained by wisdom, the mind is liberated completely from mental intoxicants. (my translation) 

  6. “วิธิคิดแบบโยนิโสมนสิการ” มีเนื้อหาร่วม 50 หน้า และเป็น loaded explanation คือเป็นคำอธิบายของฝ่ายศาสนา (เรียกว่าธรรมเทศนาก็ไม่ผิดนัก) ไม่ใช่ทางตรรกวิทยาที่ไม่ขึ้นอยู่กับบริบท สำหรับผู้ที่ไม่สนใจเนื้อหาทางศาสนา (เพราะคิดว่าเป็นการยัดเยียดหรือ evangelical มากเกินไป) ก็ขอให้เปิดใจอ่านดูจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย คำอธิบายส่วนนี้สะท้อนอัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์หนังสือพุทธธรรมได้อย่างชัดเจน 

  7. ในสัมมาทิฏฐิสูตร มัชฌิมนิกาย มีกล่าวไว้ว่า Katamañcāvuso, akusalamūlaṃ? Lobho akusalamūlaṃ, doso akusalamūlaṃ, moho akusalamūlaṃ – idaṃ vuccatāvuso, akusalamūlaṃ. (Maj 1.1.89, MN 9) แปลได้ว่า What, Venerable, is the root of the unwholesome. Greed [is] the root of the unwholesome. Hatred [is] the root of the unwholesome. Delusion [is] the root of the unwholesome. This [is] called, Venerable, the root of the unwholesome. ในทางกลับกันถ้าไม่มีโลภโกรธหลงก็เรียกว่า wholesome คำนี้มีความหมายชัดเจนกว่า “ดี” เพราะสะท้อนถึงความมีสุขภาพที่สมบูรณ์ (ดูคำอธิบายว่าด้วยความพ้นทุกข์)