Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

นามกับบทขยาย

สารบัญ

บทนี้จะแนะนำเกี่ยวกับคำคุณศัพท์ (adjective) ในตำราไวยากรณ์เรียกว่า คุณนาม อันนี้มีเหตุผลควรจะรู้ กล่าวคือในกลุ่มคำที่เรียกว่านามนั้นความจริงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ (1) นามนาม (หรือสุทธนาม) เป็นคำนามทั่วไปหรือชื่อที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ (2) คุณนาม เป็นคำที่ใช้ขยายคำนามอื่น ๆ และ (3) สรรพนาม เป็นคำที่ใช้แทนสิ่งต่าง ๆ

นาม มี 3 ประเภท คือ

  1. นามนาม หรือสุทธนาม (noun)
  2. คุณนาม (adjective)
  3. สรรพนาม (pronoun)

เหตุผลที่ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มนามเพราะคำเหล่านี้แปรรูปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน (คำสรรพนามมีรูปเฉพาะที่ต้องจำมากหน่อย แต่ก็ถือว่าใช้หลักการเดียวกัน) เราได้พูดถึงนามนามในบทที่ว่าด้วยประโยคนามโดด ส่วนสรรพนามจะได้พูดถึงต่อไปในบทที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้จะพูดถึงคุณนาม

โดยหลักการแล้วคำคุณนามไม่มีเพศเป็นของตัวเอง1 เวลาไปขยายคำนามใดก็จะมีเพศ พจน์และหน้าที่ตรงกับนามนั้น ยกตัวอย่าง เช่น อ้วน มีศัพท์ในพจนานุกรมหรือคำดิบว่า thūla เวลาใช้ขยายคำนามที่เป็น nom. จะเป็นไปตามตัวอย่างดังนี้

  • thūlo dārako = (There is) a fat boy.
  • thūlā dārakā = (There are) fat boys.
  • thūlā dārikā = (There is) a fat girl.
  • thūlāyo dārikāyo = (There are) fat girls.
  • thūlaṃ potthakaṃ = (There is) a big book.
  • thūlāni potthakāni = (There are) big books.

บทคุณนามเมื่อไปขยายนามใดจะต้องมีเพศ พจน์และหน้าที่ตรงกับนามนั้น

เวลาเราเปิดพจนานุกรมเป็นไปได้ที่คำคุณศัพท์จะมีอักษรท้ายที่ไม่สอดคล้องกับเพศของคำนาม ให้ทำดังนี้ ถ้าอักษรท้ายของคุณศัพท์เป็น a เวลาใช้ขยาย f. ให้ทำเป็น ā แต่ถ้าอักษรท้ายเป็น ā เวลาขยาย m. ให้ทำเป็น a และถ้าอักษรท้ายเป็นสระยาว (ā ī ū) เวลาขยาย nt. ให้ทำให้สั้น (เป็น a i u)

ลำดับของบทขยาย

จากที่อธิบายไว้ในประโยคนามโดดว่าลำดับคำในประโยคบาลีนั้นไม่ได้สำคัญ (มากนัก) กับการสื่อความหมาย ดังนั้นเวลาเราพูดว่า thūlaṃ potthakaṃ หรือ potthakaṃ thūlaṃ จึงมีความหมายเหมือนกัน (แต่อาจจะมีการเน้นที่ต่างกัน)2

เมื่อมีบทขยายมากกว่าหนึ่งบท เราก็สามารถเพิ่มเข้าไปได้เลย เช่นเพิ่ม sundara (beautiful) ได้เป็น sundaraṃ thūlaṃ potthakaṃ หรือ potthakaṃ thūlaṃ sundaraṃ แปลว่า (There is) a big, beautiful book. แต่ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ต่าง ๆ สไตล์ที่นิยมคือใช้บทขยายหนึ่งบทวางไว้ข้างหน้า ส่วนที่เหลือให้วางไว้ข้างหลังคำนาม ดังนั้นที่นิยมจึงเป็น thūlaṃ potthakaṃ sundaraṃ

และเมื่อเพิ่ม atthavantu (useful) เข้าไปอีกก็จะได้ thūlaṃ potthakaṃ sundaraṃ atthavaṃ แปลว่า (There is) a big, beautiful, useful book. ศัพท์ atthavantu นี้อยู่ในกลุ่มพิเศษ ดูคำอธิบายด้านล่าง

การวางบทขยายมากกว่าหนึ่งบทตามแบบที่นิยมคือ

  • วางบทหนึ่งไว้หน้าคำนาม
  • วางบทที่เหลือไว้หลังคำนาม
  • ตัวอย่างเช่น thūlaṃ potthakaṃ sundaraṃ atthavaṃ

บทขยายใช้แทนคำนามได้

ลักษณะพิเศษอันหนึ่งของคำคุณนามในภาษาบาลีคือ คุณนามสามารถแทนคำนามได้ถ้าเป็นที่เข้าใจกัน หรือเข้าใจได้โดยบริบท และมีคำคุณนามบางกลุ่มที่ใช้เป็นคำนามได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนถามว่าเราซื้อหนังสือเล่มเล็กหรือเล่มใหญ่ ถ้าเราซื้อเล่มใหญ่ก็ตอบเพียงว่า thūlaṃ ซึ่งเท่ากับ the big one แต่ในบาลีบทขยายนี้สามารถใช้โดยลำพังได้เลย ซึ่งเราพบได้บ่อยในคัมภีร์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมีคำกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เป็นนามก็ได้ ใช้เป็นส่วนขยายก็ได้ แต่คำกลุ่มนี้มีกฎการแปรรูปที่ต่างออกไปจากปกติ (ดูรายละเอียดในคำนามพิเศษ) ส่วนในที่นี้จะขอแนะนำเพียง nom. เท่านั้น ศัพท์ในกลุ่มนี้ได้แก่คำที่ลงท้ายด้วย -mantu และ -vantu3

จากตัวอย่างข้างบนเราใช้ atthavantu ซึ่งมีรูป nom. ทั้งสามเพศดังนี้

ศัพท์ atthavantu (useful)
nom. m. sg. atthavā
nom. m. pl. atthavanto, atthavantā
nom. f. sg. atthavatī, atthavantī
nom. f. pl. atthavatiyo, atthavantiyo
nom. nt. sg. atthavaṃ
nom. nt. pl. atthavanti, atthavantāni

โดยความหมาย atthavantu แปลว่าผู้มีประโยชน์ สามารถใช้เป็นคำนามโดยรูป m. และ f. แทนคนที่มีประโยชน์ (one full of benefit) ส่วนรูป nt. แทนสิ่งที่มีประโยชน์ (thing full of benefit) ถ้าใช้เป็นบทขยายก็จะแปลว่า มีประโยชน์ (useful หรือ full of benefit) ตัวอย่างได้ยกไว้แล้วข้างบน

ความจริงมีคำอื่นที่สามารถใช้แทน atthavantu ได้ในฐานะบทขยาย ได้แก่ payojanavaha (payojana + vaha) หรือ sopakāra (sa + upakāra) คำเหล่านี้ใช้ได้เหมือนคุณนามทั่วไป แต่บางครั้งก็มีเฉพาะกลุ่ม antu นี้เท่านั้นที่เหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป เช่น dhanavantu (having wealth = rich) paññāvantu (having wisdom = wise) เป็นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (ดูการแปรรูปเทียบกับ atthavantu ข้างบน)

เมื่อใช้เป็นบทขยาย:

  • dhanavā dārako = (There is) a rich boy.
  • dhanavanto dārakā = (There are) rich boys.
  • paññāvatī dārikā = (There is) a wise girl.
  • paññāvatiyo dārikāyo = (There are) wise girls.
  • dhanavaṃ kulaṃ = (There is) a rich family.
  • dhanavanti kulāni = (There are) rich families.

เมื่อใช้เป็นคำนาม:

  • dhanavā = (There is) a rich man.
  • thūlo dhanavā = (There is) a fat, rich man.
  • dhanavatiyo = (There are) rich women.
  • sundarāyo dhanavatiyo = (There are) beautiful, rich women.

เมื่อเพศของบทขยายขัดกัน

บางครั้งเราจะใช้คุณนามบทเดียวขยายคำนามหลายตัว เช่น (There are) rich boy, girl, and family. ในกรณีนี้มีหลักการเลือกเพศของบทขยายดังนี้ ถ้าคำนามมี nt. ให้ใช้ nt. ถ้าไม่มีแต่มี m. ให้ใช้ m.4 ดังตัวอย่างดังนี้

  • dārako dārikā kulaṃ (vā) dhanavaṃ = (There are) rich boy, girl, and family.
  • dārako dārikā (vā) dhanavā = (There are) rich boy and girl.

ในตัวอย่าง vā เป็นคำเชื่อม (ไม่แปรรูป) แปลว่า “และ/หรือ” (เราจะพูดถึงเรื่องนี้ในบทที่เกี่ยวข้อง) ดังนั้นความหมายจึงแปลได้สองนัย อีกนัยหนึ่งคือ (There is) a rich boy, girl, or family. กับ (There is) a rich boy or girl.

เชิงอรรถ

  1. มีคำคุณศัพท์จำนวนน้อยมากที่มีเพศ เช่น mahatī (f.) แปลว่าใหญ่ หรือถ้าใช้แบบปกติก็จะเป็น mahantā (f.) mahanto (m.) mahantaṃ (nt.) แต่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นคำนี้ในรูปสมาสว่า mahā- ซึ่งใช้ได้กับทุกเพศ 

  2. ว่ากันตามจริงก็ต่างกันนิดหน่อย กล่าวคือ thūlaṃ potthakaṃ hoti แปลว่า There is a big book. ส่วน potthakaṃ thūlaṃ hoti แปลว่า A book is big. เราจะพูดเรื่องนี้อีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับกริยาเป็น/อยู่/คือ 

  3. ตามหลักไวยากรณ์ศัพท์กลุ่มนี้เกิดจาก secondary derivation (ตัทธิต) การแปรรูปจะเดินตาม declension table ของ guṇavantu หรือ himavantu (ดู Appendix B.4 ใน Pāli for New Learner, Book 1

  4. “Where the genders conflict, the masculine takes precedence over the feminine, the neuter over both.” A. K. Warder, 2001, Introduction to Pali, 3rd ed., The Pali Text Society, p. 61.