ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการใช้เหตุผล
สารบัญ
วิชาตรรกศาสตร์เป็นวิชาที่ยากและต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้ มีลักษณะคล้ายกับวิชาคณิตศาสตร์อยู่มาก ผู้เขียนหลีกเลี่ยงที่จะนำตรรกศาสตร์มานำเสนอในที่นี้เพราะเห็นว่ามากเกินไป แต่ด้วยความสำคัญของเนื้อหาครั้นจะไม่พูดถึงเสียเลยก็ดูจะขาดส่วนสำคัญไป ผู้เขียนจึงเลือกส่วนที่น่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากนักมาอธิบาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการใช้เหตุผล (fallacies)
เราจะพบเห็นข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ในหนังสือเกี่ยวกับตรรกศาสตร์ทั่วไป ถ้าเอาให้ละเอียดก็จะมีมากเป็นร้อย ๆ ในที่นี้จึงขอยกเฉพาะกรณีที่พบบ่อย การที่เราได้รู้ว่าอะไรคือหลุมพลางของการใช้เหตุผล โอกาสที่จะผิดพลาดก็น้อยลง
การสอนเรื่องการใช้เหตุผลที่ผิดพลาดมีความเก่าแก่ มีบันทึกไว้ในนฺยายสูตรของปรัชญาอินเดียสำนักนฺยายะ ที่รู้จักกันทั่วไปมีกล่าวถึงในตำราของอาริสโตเติล และได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในสมัยยุคกลาง นั่นเป็นที่มาของชื่อภาษาละตินของข้อผิดพลาดที่รู้จักกันมานานแล้ว การรู้ชื่อภาษาละตินมีประโยชน์เวลาผู้ศึกษาใช้สืบค้นเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป
เพื่อความง่ายผู้เขียนขอแบ่งข้อผิดพลาดที่พบบ่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเบี่ยงประเด็น กลุ่มสรุปผิด และอื่น ๆ
เบี่ยงประเด็น
ข้อผิดพลาดกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือมักหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลในประเด็นที่ยกขึ้นมา และอ้างไปเรื่องอื่นเสีย หรือบทสรุปที่ได้ไม่ตรงกับประเด็นนั้น ๆ ภาษาละตินเรียกว่า ignoratio elenchi การเบี่ยงประเด็นมีได้หลากหลายรูปแบบ เป็นกลุ่มที่พบเห็นได้มากที่สุด
เบนความสนใจ
เรียกกันทั่วไปว่า red herring เป็นการเบนความสนใจไปที่เรื่องอื่น เหมือนกลิ่นปลาเค็มเบนความสนใจของหมาล่าเนื้อฉะนั้น ดังตัวอย่างในบทสนทนานี้
A: “ทำไมภิกษุณีเถรวาทจึงมีไม่ได้?”
B: “เพราะตามพระวินัยไม่มีภิกษุณีสงฆ์ที่จะบวชให้”
A: “ทำไมเพียงแค่ระเบียบขั้นตอนเล็กน้อยจึงแก้ไขโดยคณะสงฆ์เองไม่ได้ ในเมื่อสงฆ์เองก็แก้ไขดัดแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อความสะดวกของตัวเองมามากแล้ว”
B: “เป็นแม่ชีก็ปฏิบัติได้ ทำไมต้องบวชด้วย?”
นี่เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริง การยกเรื่องแม่ชีขึ้นมาเป็นการเบี่ยงประเด็น ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังพูดกัน
หุ่นฟาง
ชื่อนี้แปลมาจาก strawman fallacy เมื่อประเด็นที่กำลังถกเถียงมีความยากต่อการใช้เหตุผล บางครั้งเป้าหมายเทียมจะถูกสร้างขึ้น (หุ่นฟาง) เพื่อเป็นเป้าโจมตีแทน เพราะดูเหมือนจะเอาชนะได้ง่ายกว่า ดูตัวอย่างในบทสนทนา
A: “เมื่อทุกอย่างเป็นอนัตตา ทำไมเราจึงทำกรรมและเวียนว่ายตายเกิดได้?”
B: “ถ้ากฎแห่งกรรมไม่มี คนเราก็จะทำชั่ว สังคมก็จะวุ่นวาย”
จะเห็นว่าการโต้แย้งในเรื่องอนัตตาทำได้ยาก ส่วนการยกประเด็นทางศีลธรรมมาดูจะโต้แย้งได้ง่ายกว่า นี่จึงเป็นการสร้างเป้าเทียมเพื่อเบี่ยงประเด็น
โจมตีตัวบุคคล
เรียกโดยทั่วไปว่า ad hominem เป็นข้อผิดพลาดที่พบบ่อยมากโดยเฉพาะการอภิปรายในสภา แทนที่จะพิจารณาที่ประเด็นปัญหา บุคคลที่พูดกลับตกเป็นเป้าหมายแทน ตัวอย่างเช่น “พระรูปนี้พูดไม่เป็นธรรมะเพราะฝักใฝ่พรรคการเมือง” จะเห็นว่าความเป็นธรรมะของคำพูดไม่ได้อยู่ที่ผู้พูดจะชอบพรรคการเมืองใดหรือไม่ แต่อยู่ที่ตัวคำพูดเอง ฉะนั้นการสรุปอย่างนี้ไม่มีเหตุผล แต่ข้ออ้างนั้นมีผลทางด้านจิตวิทยา ผู้คนโดยทั่วไปก็มักจะเชื่อไปตามนั้น
อ้างคนหมู่มาก
บางตำราเรียกข้อนี้ว่า bandwagon fallacy ทำให้เห็นภาพว่าเราก็ควรจะเดินตามขบวนแห่ไปเพราะทุกคนก็ร่วมด้วย ชื่อภาษาละตินคือ argumentum ad populum ตัวอย่างเช่น “คนไทยส่วนใหญ่เชื่อเรื่องผี ฉะนั้นผีจึงมีจริง” หรือ “ประชาชนส่วนใหญ่เห็นการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติในสังคม ดังนั้นเราจะคอร์รัปชั่นบ้างก็ไม่เป็นไร”
ผลทางด้านจิตวิทยาของข้อนี้มีความรุนแรง การโต้แย้งในเรื่องของความเชื่อของคนส่วนมากแม้จะใช้ความมีเหตุมีผลก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจลบล้างความเชื่อเรื่องวรรณะออกจากอินเดียได้
ข้อยกเว้นของกรณีนี้คือ เมื่อคนหมู่มากที่ว่ามีความเชื่อที่มีเหตุมีผล การเชื่อตามนั้นดูจะปลอดภัยกว่า เช่น “นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าคนมีสายวิวัฒนาการร่วมกับลิง” นี่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีหรือความคิดเลื่อนลอย
อ้างผู้มีอำนาจ
ภาษาอังกฤษใช้ appeal to authority ข้อนี้เหมือนบทกลับของ ad hominem การอ้างบุคคลที่มีอำนาจหรือความเชี่ยวชาญ (ผิดประเภท) แทนเหตุผลมีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน เช่น “พระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งกล่าวว่าโลกมีสัณฐานแบนมีแกนเป็นภูเขาใหญ่ ดังนั้นโลกนี้ความจริงแล้วแบน” จากตัวอย่างพระพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิดาราศาสตร์จึงไม่ควรนำมาอ้างในกรณีนี้ การอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ โดยตรงเป็นการอ้างที่มีเหตุผล
อ้างประเพณี
ข้อนี้พบบ่อยในสังคมไทย เป็นการอ้างว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือปฏิบัติมานานสิ่งนั้นจะต้องจริง ตัวอย่างเช่น “คนไทยนับถือผีมาเป็นเวลานาน ดังนั้นผีต้องมีจริง”
อ้างศรัทธา
ข้อนี้มีแบบง่าย ๆ คือ สิ่งนี้จริงเพราะฉันศรัทธา/มีความเชื่อ/มีความมั่นใจเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น “ฉันมีศรัทธาในวิชาโหราศาสตร์ และในดวงบอกว่าวันนี้โลกจะแตก ดังนั้นฉันควรฆ่าตัวตายเสียก่อนเป็นดี” เพราะศรัทธาที่ไร้เหตุผลอย่างนี้ เราจึงได้เห็นโศกนาฏกรรมทำนองนี้มากมายเกิดขึ้น
ข้อดีของศรัทธาก็มีคือสามารถทำให้คนทำดีได้โดยไม่ต้องบังคับหรือโน้มน้าวด้วยเหตุผล (เพราะบางเรื่องไม่สามารถอธิบายได้) แต่อันตรายที่ซ่อนอยู่กลับมีมากกว่าเมื่อศรัทธาที่ว่าถูกใช้โดยผลประโยชน์แอบแฝง เราจะเห็นได้จากวัดที่สอนให้คนศรัทธาอย่างเดียวเพื่อเรียกเงินบริจาคแทนที่จะสอนให้คนคิดเป็น ตามมาตรฐานของการใช้เหตุผลที่ดี จึงกล่าวได้ว่า ทุกกรณีที่อ้างเหตุผลด้วยศรัทธาเป็นการใช้เหตุผลที่ผิด
ใช้คำคลุมเครือ
การที่เราไม่ทำเรื่องที่กำลังเผชิญอยู่ให้ชัดเจนแล้วด่วนสรุปจากข้ออ้างที่คลุมเครือเป็นการใช้เหตุผลที่ผิด ตัวอย่างที่เคยยกมาคือ “นอกเหตุเหนือผล”1 คำว่าเหตุและผลนี้คลุมเครือ จากเทศนาของหลวงพ่อชา สุภัทโทนี่ควรแปลว่า อยู่นอกกฎเกณฑ์ของเหตุและผล ไม่ใช่ทำความเข้าใจด้วยเหตุผลไม่ได้
และที่มีปัญหามากที่สุดคือคำว่า ‘ดี’ อย่างไรเรียกว่าดี หรือแค่ไหนเรียกว่าดี หรือดีในมุมมองของใคร ถ้าไม่ทำให้ชัดตั้งแต่แรก การจะสรุปว่าอะไร ‘ดี’ นั้นดูจะอ่อนเหตุผลเสมอ
ใช้คำกระตุ้นอารมณ์
ข้อนี้ใช้มากในวาทศิลป์ เห็นได้ทั่วไปในโฆษณา แทนที่จะใช้เหตุผลกลับให้คำที่เร้าอารมณ์แทน เช่น “โทษประหารควรจะยกเลิกเพราะเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้อารยธรรม เป็นการกระทำเยื่ยงสัตว์เดียรัจฉาน”
อิงปาฏิหาริย์
ข้อนี้พบบ่อยในสังคมไทย ตัวอย่างเช่น “ตอนนี้สถานการณ์โควิทรุนแรง ขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันสวดมนต์” นี่อาจจะสะท้อนการใช้เหตุผลของคนไทย ความจริงการอิงปาฏิหาริย์อาจจะไม่ได้ตั้งใจใช้เป็นการอ้างเหตุผล เป็นเพียงการบำบัดเชิงจิตวิทยา หรือเป็นกลยุทธ์ทางการบริหาร แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือประชาชนที่งมงายเชื่อถือในเรื่องอำนาจลึกลับ2 เป็นพลเมืองที่ง่ายต่อการปกครองและจัดการ ผู้ปกครองไทยจึงมักใช้เทคนิคนี้เป็นประจำ
สรุปผิด
ความผิดพลาดกลุ่มนี้เกิดจากการใช้เหตุผลที่ไม่รัดกุมทำให้ข้อสรุปที่ได้มีเหตุผลไม่เพียงพอ
ด่วนสรุป
ภาษาอังกฤษเรียกว่า hasty generalization หรือ hasty conclusion เป็นการสรุปจากหลักฐานข้อมูลเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น “พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุอรหันต์ขณะเป็นฆราวาสแล้วเสียชีวิตในเวลาไม่นาน พระพาหิยทารุจีริยะก็บรรลุอรหันต์ขณะเป็นฆราวาสแล้วเสียชีวิตในเวลาไม่นาน ฉะนั้นเมื่อฆราวาสบรรลุอรหันต์จะต้องเสียชีวิตในเวลาไม่นาน (เว้นแต่ได้บวช)”
ใช้อุปมาผิด
ในการสนทนาหรืออธิบายความเรามักใช้คำอุปมาอุปมัยเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่บ่อยครั้งที่การอุปมาสร้างภาพที่บิดเบือน ทำให้เกิดการเข้าใจผิด แทนที่จะเข้าใจง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เคยยกไว้ในที่อื่นคือ ในมิลินทปัญหามีการใช้คำว่า นิพฺพานนครํ (เมืองแห่งนิพพาน) และ กมฺมมูลํ (กรรมคือเงินตรา) เหล่านี้เป็นการสร้างภาพที่บิดเบือนส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด
เนินลื่น
ข้อนี้แปลตรงตัวจาก slippery slope ส่วนชื่อที่สื่อความหมายดีกว่าคือ absurd extrapolation เป็นการให้เหตุผลแบบลูกโซ่ ที่บทสรุปดูไร้เหตุผลเพราะขาดความรัดกุมในแต่ละขั้นตอน ยกตัวอย่าง เช่น “เราไม่สามารถปล่อยให้เด็กออกนอกบ้านได้ เพราะถ้าปล่อยเขาจะเดินไปทั่ว และถ้าเขาเดินไปทั่วเขาก็จะพบคนแปลกหน้า เมื่อพบคนแปลกหน้าเขาจะถูกลักพาตัวไป ดังนั้นเราควรจะขังเด็ก ๆ ให้อยู่ในบ้านเท่านั้น”
ทำลายข้อยกเว้น
ข้อนี้เป็นการทำทุกอย่างให้เป็นกรณีทั่วไปไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า accident fallacy ตัวอย่างเช่น “คนเราไม่ควรจะทำร้ายร่างกายกัน ดังนั้นศัลยแพทย์จึงไม่ควรมี”
ข้อผิดพลาดอื่น ๆ
นอกจากข้อผิดพลาดที่สามารถจัดรวมเป็นกลุ่มดังที่แสดงไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง บางข้อเป็นความผิดเชิงรูปแบบ (formal fallacies) บางข้อเกิดจากการใช้ภาษา แต่ส่วนใหญ่เป็นความผิดส่วนเนื้อหา (informal fallacies) ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
อ้างเหตุกับผลสับสน
ข้อนี้เกิดขึ้นบ่อย อย่างแรกคือเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลำดับเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (confusing correlation and causation) ชื่อภาษาละตินว่า post hoc ergo propter hoc (after this, therefore because of this) ตัวอย่างที่คุ้นเคยเช่น “ก่อนสอบเขาไปขอบนกับเจ้าพ่อไทรใหญ่ แล้วเขาก็สอบได้ ดังนั้นเจ้าพ่อไทรใหญ่ช่วยให้สอบได้”
อีกรูปแบบหนึ่งที่มักพบบ่อย เป็นความผิดพลาดเชิงรูปแบบ ตัวอย่างที่มักจะยกมาเช่น “ถ้าฝนตกถนนจะเปียก วันนี้ถนนเปียกดังนั้นฝนจึงตก” หรือ “วันนี้ฝนไม่ตกแสดงว่าถนนไม่เปียก” อย่างนี้ใช้เหตุผลผิดเพราะว่าถนนอาจจะเปียกเพราะเหตุอื่นก็ได้ (เช่นเทศบาลเอาน้ำมาล้าง)3
อ้างความไม่รู้
ชื่อเป็นทางการเรียกว่า ad ignorantiam หลักการคือสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามี ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี และสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่มี ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นมี ตัวอย่างเช่น “dark matter ยังไม่มีการพิสูจน์ ฉะนั้น dark matter จึงไม่มี” และ “ยังไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่าผีไม่มี ฉะนั้นผีต้องมีอยู่” การอ้างอย่างนี้เรียกว่าไม่มีเหตุผล แต่ก็มักใช้โน้มน้าวได้ผลในบางครั้ง เช่น “นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดไม่มี แสดงว่าโลกหน้าต้องมีอยู่” คนที่มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องนี้อยู่แล้วมักจะเห็นว่ามีเหตุผล
เราต้องเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ไม่ได้เกิดจากเราขาดความรู้ในเรื่องนั้น ๆ (ยกเว้นเรื่อง dark matter ที่เราแทบจะไม่รู้อะไร) แต่เป็นเพราะเรื่องที่จะพิสูจน์นั้นไม่ได้มีสาระที่ชัดเจนหรือเป็นความสับสนเชิงประเภท (categorical mistake) ตัวอย่างเช่นเรื่องผีเป็นต้น ถ้าเรานิยาม ‘ผี’ ให้ชัดเจนแล้วพิสูจน์ในทางตรรกะหรือการทดลองเราก็จะได้ผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทวนคำถาม
ข้อผิดพลาดนี้มักเกิดขึ้นบ่อยถ้าไม่ระวัง นิยมใช้ภาษาอังกฤษว่า begging the question ส่วนชื่อละตินคือ petitio principii ตัวอย่างเช่น “พระไตรปิฎกเป็นบันทึกความจริง เพราะมาจากพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าย่อมกล่าวความจริง เพราะพระไตรปิฎกบันทึกไว้อย่างนั้น” จะเห็นว่านี่เป็นการอ้างเหตุผลแบบงูกินหาง ไม่อาจเรียกว่ามีเหตุผลเพียงพอ การพิสูจน์ความจริงในพระไตรปิฎกจะต้องใช้วิธีอื่น เช่น เปรียบเทียบกับความรู้ที่ยอมรับกันทั่วไป หรือพิสูจน์จากผลการปฏิบัติ
ไม่ขาวก็ดำ
นิยมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า false dilemma เป็นการมองโลกแบบสุดโต่ง คือถ้าไม่ใช่ขาวก็คือดำ ไม่มีพื้นที่ในระหว่าง ตัวอย่างเช่น “ถ้าคุณไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดคุณก็ไม่ใช่ชาวพุทธ” หรือ “ถ้าคุณไม่เชื่อพระไตรปิฎกคุณก็เป็นพวกนอกรีต” การใช้เหตุผลแบบนี้สะท้อนโลกทัศน์ที่คับแคบของผู้ใช้
คิดไปเอง
ข้อนี้ไม่ได้ใช้เหตุผลอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงใช้ความปรารถนาอยากให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามที่ตัวเองคิด ตัวอย่างเช่น “กฎแห่งกรรมต้องเป็นจริงเพราะธรรมชาติมีความยุติธรรม” คำอ้างนี้ดูมีเหตุผลแต่อันที่จริงเป็นความปรารถนาของบุคคลที่อยากให้ธรรมชาติมีความยุติธรรม (ต่อตนเองเท่านั้น) ความจริงกฎแห่งกรรมไม่ใช่กฎทางฟิสิกส์เหมือน law of conservation of energy and mass และความยุติธรรมจริง ๆ นั้นไม่มีในมุมมองของธรรมชาติ ความยุติธรรมเป็นเพียงสัญชาตญาณความปรารถนาของมนุษย์ (แต่กฎแห่งการกระทำย่อมมีอยู่ แต่อาจจะไม่เป็นไปตามที่มนุษย์คาดหวัง)
เชิงอรรถ
-
ดูใน ความสำคัญของเหตุผล ↩
-
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจในศาสนศึกษา การใช้อำนาจที่มองไม่เห็นที่ได้จากศาสนามาสนับสนุนอำนาจการปกครองทางการเมืองสามารถเห็นอยู่ทั่วไป เป็นความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน นั่นคือศาสนากับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ในทางปฏิบัติ ในสังคมไทยมีการใช้หลักธรรมบางข้อเพื่อผลทางการเมืองจนเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย เช่น กฎแห่งกรรม (เขาเกิดมามีอำนาจวาสนาเพราะเขาทำมาดีแล้วในอดีต เราจึงควรยอมรับและสนับสนุน) หรือ กตัญญูกตเวที (คนนี้แม้จะโกงประเทศแต่ก็แบ่งปันเรา เราจึงควรตอบแทนด้วยการเลือกเขาเข้าไปอีก) เป็นต้น ↩
-
รูปแบบที่ถูกต้องมีสองอย่าง แบบแรกยืนยันเหตุเรียกว่า modus ponens คือ ถ้าฝนตก ถนนเปียก; ฝนตกจริง; ดังนั้นถนนจึงเปียก อย่างนี้ถูกต้อง อีกแบบคือปฏิเสธผลเรียกว่า modus tollens คือ ถ้าฝนตก ถนนเปียก; ถนนไม่เปียกจริง; ดังนั้นฝนจึงไม่ตก อย่างนี้ก็ถูกต้อง ↩