Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

ความสำคัญของเหตุผล

พุทธศาสนาเข้าใจด้วยเหตุผลไม่ได้ พุทธศาสนาอยู่นอกเหตุเหนือผล

คำกล่าวข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะกีดกันผู้ศึกษาออกจากการศึกษาในแนวนี้ โดยใช้ข้ออ้างที่มักได้ยินได้ฟังมา โดยเฉพาะคำว่า นอกเหตุเหนือผล ที่เคยใช้โดยหลวงพ่อชา สุภัทโท มาก่อน ด้วยความเชื่อเหล่านี้ ดูเหมือนเหตุผลจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพุทธศาสนา ข้อนี้สำคัญ และเพื่อความชัดเจนผู้เขียนขอยกตอนที่หลวงพ่อชากล่าวถึง “นอกเหตุเหนือผล” มาดังนี้

ในทางพุทธศาสาให้ทำเพื่อไม่ต้องการอะไร ถ้ามีเพื่ออะไรมันไม่หมด ทางโลกทำอะไรเรียกว่ามันมีเหตุผลพระพุทธองค์ท่านทรงสอนว่าให้ “นอกเหตุเหนือผล” ไม่ว่าจะทำอะไร ปัญญาของท่านให้นอกเหตุเหนือผล ให้นอกเกิดเหนือตาย นอกสุขเหนือทุกข์

ลองคิดตามไปซิลองพิจารณาไปตาม คนเราเคยอยู่ในบ้าน พอหนีจากบ้านไปไม่มีที่อยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเรามันเคยอยู่ในภพ อยู่ในความยึดมั่นถือมั่นเป็นภพ ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็เรียกว่าไม่รู้ว่าจะทำอะไร1

The worldly way is to do things for a reason, to get some return, but in Buddhism we do things without any gaining idea. The world has to understand things in terms of cause and effect, but the Buddha teaches us to go above and beyond cause and effect. His wisdom was to go above cause, beyond effect; to go above birth and beyond death; to go above happiness and beyond suffering.

Think about it…there’s nowhere to stay. We people live in a ‘home’. To leave home and go where there is no home… we don’t know how to do it, because we’ve always lived with becoming, with clinging. If we can’t cling we don’t know what to do.2

ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า “นอกเหตุเหนือผล” ของหลวงพ่อชาหมายถึง beyond cause and effect ไม่ใช่ unable to reason เพราะทุกอย่างต้องใช้เหตุผล (reasoning) จึงจะเข้าใจกันได้ ในที่นี้หลวงพ่อท่านเตือนว่าการคิดถึงแต่ว่าทำอันนี้ (เหตุ) จะได้อันนั้น (ผล) แบบโลก ๆ ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ท่านไม่ได้ให้เราเลิกใช้เหตุผล

เพื่อความกระจ่างมากขึ้นต่อไป เราต้องเห็นด้วยว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ใช่การใช้เหตุผล ในการที่จะให้ผู้อื่นยอมรับความเชื่อหรือการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ดูเหมือนจะทำได้โดย 3 วิธีใหญ่ ๆ คือ

  1. ใช้กำลังบังคับ การใช้กำลังอำนาจเพื่อบังคับให้บุคคลเชื่อและปฏิบัติในสิ่งที่ผู้บังคับต้องการเป็นการกระทำที่เห็นได้ทั่วไป เราจะเห็นได้ตั้งแต่การใช้อำนาจโดยตรง เช่นการบังคับให้นับถือศาสนาของผู้ปกครอง ไปจนถึงการบังคับที่แนบเนียนเห็นได้ยากที่มาจากแรงกดดันทางสังคมหรือขนบธรรมเนียมประเพณี การแสดงฤทธิ์เดชเพื่อให้คนยอมรับและเชื่อฟังก็จัดเข้าในข้อนี้ การบังคับด้วยกำลังดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็อันตรายที่สุด
  2. ใช้ความเชื่อใจให้ยอมรับ ข้อนี้คล้ายกับข้อแรกแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เราสามารถทำให้คนอื่นเชื่อตามเราได้เพียงเพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีและเชื่อใจต่อกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หมู่ญาติมักมีความเชื่อและการปฏิบัติที่คล้ายกัน และตัวอย่างที่ดูเหมือนจะรุนแรงคือ เราสามารถทำหรือเชื่ออะไรก็ได้เพื่อคนที่เรารัก การโน้มน้าวด้วยศรัทธาในสิ่งที่ผู้คนนับถือก็จัดอยู่ในประเภทนี้ (ศรัทธาอาจจะมาในรูปแบบอำนาจที่แนบเนียนก็ได้ อย่างนี้จัดเข้าเป็นประเภทแรก)
  3. ใช้เหตุผลโน้มน้าว การใช้เหตุผลโต้แย้งและโน้มน้าวเป็นลักษณะสำคัญของสังคมอารยะ เมื่อคนสองคนมีความเห็นต่างกัน แต่ละคนมีอำนาจเสมอกันและไม่ได้มีความผูกพันกัน วิธีเดียวที่จะทำให้อีกคนรับความคิดของอีกคนหนึ่งคือ การใช้เหตุผล

ทั้งสามข้อที่กล่าวมา ถ้าคำนึงถึงผลลัพธ์สุดท้ายแล้ว ไม่มีข้อใดที่ดีที่สุด การใช้กำลังบังคับอาจจะมีความจำเป็นในสถานการณ์สงคราม (หรือที่มักอ้างกันว่าเพื่อความมั่นคง) การใช้ความเชื่อใจอาจเป็นวิธีเดียวที่พ่อแม่จะสอนลูกได้ และการใช้เหตุผลอาจจะแฝงด้วยเจตนาที่ซ่อนเร้น (อำนาจมักจะบังคับด้วยเหตุผลที่ไร้เหตุผล) หรือเกิดจากการใช้ที่ขาดทักษะ (สิ่งที่ได้คือไร้เหตุผลอยู่นั่นเอง) หรือมีความตั้งใจที่จะบิดเบือนด้วยวาทศิลป์ (rhetoric)

พระพุทธเจ้าสอนโดยใช้กำลังบังคับ ใช้ความเชื่อใจให้ยอมรับ หรือโดยใช้เหตุผล?

คำถามนี้ย่อมมีคำตอบเดียวในใจของพุทธศาสนิกชน นั่นคือ พระพุทธองค์ประกาศคำสอนโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก และกล่าวได้ว่าการบันทึกคำสอนในพระไตรปิฎกตลอดจนการเขียนอธิบายในอรรถกถาฎีกาและปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล (เป็นส่วนใหญ่)

การอธิบายหรือเทศนาธรรมะล้วนแล้วแต่ใช้เหตุผลทั้งสิ้น (หรือดูเหมือนเป็นการใช้เหตุผล) คำกล่าวที่ว่า นอกเหตุเหนือผล ก็ดี หรือ พุทธศาสนาเข้าใจด้วยเหตุผลไม่ได้ ก็ดี ล้วนเป็นการสร้างวาทกรรมโดยใช้เหตุผลและอาศัยเหตุผลในการทำความเข้าใจทั้งสิ้น จะว่าไปไม่มีการกระทำใดของมนุษย์ที่ปราศจากการใช้เหตุผล

การใช้กำลังหรือความเชื่อใจก็ดี ถ้าดูให้ดีก็จะพบการใช้เหตุผลอยู่ในนั้น เช่น เราเชื่อและทำตามสิ่งที่ถูกวางใว้เป็นขนบหรือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้โดยผู้ปกครอง เพราะเรามีเหตุผลว่าถ้าไม่เชื่อหรือทำเช่นนั้นจะนำความขัดแย้งมาสู่ชีวิต หรือนำชีวิตไปสู่อันตราย

ธรรมชาติของการใช้เหตุผล

ในเมื่อดูเหมือนทุกกิจกรรมของเราล้วนถูกกระทำด้วยเหตุผลทั้งสิ้น ทำไมการศึกษาพุทธศาสนายังต้องการการใช้เหตุผลอีก? นี่เป็นผลมาจากภาษาไทยที่มีคำจำกัดไม่อาจจะใช้สื่อสารให้ชัดเจนได้

คำว่า การใช้เหตุผล ที่กล่าวมาแต่ต้นจริง ๆ แล้วผู้เขียนหมายถึง การคิดอย่างมีเหตุผล (critical thinking) ส่วนคำว่า การใช้เหตุผล นั้นตรงกับคำว่า reasoning มีความหมายใกล้เคียงกับ thinking (การคิด) ความรู้จากจิตวิทยาของการคิดและตัดสินใจบอกว่าการใช้เหตุผลของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป นักจิตวิทยาแบ่งการคิดของมนุษย์ออกเป็น 2 ระบบ นิยมเรียกกันว่า ระบบ 1 (System 1) และ ระบบ 2 (System 2)3

  • การคิดด้วยระบบ 1 เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เป็นไปเอง และไม่อยู่ในอำนาจของจิตสำนึก เป็นการตอบสนองโดยสัญชาตญาณ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราทำงานบ้านทั่วไป เวลาเราขับรถแบบสบาย ๆ หรือเวลาที่เรากระโดดหนีเมื่อเดินเหยียบวัตถุคด ๆ คล้ายงู การตอบสนองเหล่านี้เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองด้วยตรรกะ
  • การคิดด้วยระบบ 2 เกิดขึ้นโดยการไตร่ตรอง ภายใต้การทำงานของจิตสำนึก เป็นไปอย่างช้า ๆ มีระเบียบกฎเกณฑ์ และต้องใช้ความพยายามมากกว่า เช่น การคิดแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ การขับรถในสถานการณ์คับขัน หรือการเลือกจากของสองอย่างที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน

ถ้าเรายอมรับว่าทุกกิจกรรมของมนุษย์มีการใช้เหตุผล (thinking หรือ reasoning) เราหมายถึงทั้งสองระบบรวมกัน และโดยส่วนใหญ่เราจะใช้การคิดด้วยระบบ 1 คือปล่อยให้เป็นไปตามสัญชาตญาณ (หรืออารมณ์ ความคุ้นชิน) ข้อเสียของการคิดด้วยระบบ 1 คือ มันไม่คำนึงถึงเหตุผล หรือเรียกได้ว่าไม่มีเหตุผล หรือเป็นการใช้เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ของชีวิตเราเกิดจากการคิดด้วยระบบ 1 นี่เอง และนี่เป็นธรรมชาติของเราทุกคน เพราะเรามักขี้เกียจที่จะคิดด้วยระบบ 2 ซึ่งต้องใช้พลังงานและการใส่ใจมากกว่า

จากที่กล่าวมาพอจะสรุปได้ว่า เพื่อลดปัญหาของชีวิตเราจะต้องกระตุ้นให้การคิดด้วยระบบ 2 ทำงานมากขึ้น และนี่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

ความเข้าใจในพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผลเกิดจากการไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ มิได้เกิดจากความเชื่อที่ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ อารมณ์ และความคุ้นชิน

Critical thinking เป็นสิ่งที่เราต้องฝึก

ก่อนอื่นขอทำความชัดเจนกับคำที่เราใช้จากต้นมา การใช้เหตุผล (reasoning) เป็นคำทั่วไปมีความหมายกว้าง ๆ ใกล้เคียงหรือใช้แทนกันได้กับ การคิด (thinking) หรือกล่าวอย่างคร่าว ๆ ได้ว่า เมื่อความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะต้องมีการใช้เหตุผลอยู่ทุกครั้ง อาจจะเป็นไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว (สำนึกหรือไร้สำนึก) นั่นคือ การใช้เหตุผลของมนุษย์หมายถึงการทำงานด้วยการคิดทั้งระบบ 1 และระบบ 2

การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นคำที่ผู้เขียนใช้แทน critical thinking หมายความว่าในการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล หรือ critical thinking คือใช้การคิดด้วยระบบ 2 ให้ทำงานนั่นเอง นี่เป็นปัญหาในเชิงภาษาเพราะไม่มีคำภาษาไทยใดที่เหมาะกับ critical ในบริบทนี้4

การใช้เหตุผล (reasoning) = การคิด (thinking) = ระบบ 1 + ระบบ 2
การคิดอย่างมีเหตุผล = critical thinking = ระบบ 2

เนื่องจากการคิดอย่างมีเหตุผลไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเราทุกคนจะต้องฝึกเพื่อเราจะได้ใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาในโครงการนี้ (ความจริงทักษะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์โลกปัจจุบัน) หากปราศจากทักษะนี้ท่านทั้งหลายจะไม่มีทางเข้าใจพุทธศาสนาด้วยตนเองได้เลย นอกจากจะรับเอาความคิดความเชื่อของคนอื่นที่ยัดเยียดให้

Becoming a critical thinker requires that you learn to observe, monitor, analyze, assess, and reconstruct thinking of many sorts in many dimensions of human life. It requires building important habits of mind. It has implications for every act that takes place in your mind. It requires a special form of dedication and perseverance, honesty and integrity. It can be done only if taken seriously and pursued throughout a lifetime.5

การจะเป็นนักคิดที่มีเหตุผลท่านต้องเรียนรู้ที่จะสังเกต เฝ้าดู วิเคราะห์ ประเมิน และปรับปรุงความคิดคิดใหม่หลายด้านในหลายมิติของชีวิต ทักษะการคิดต้องการการสร้างอุปนิสัยต่าง ๆ ทางใจที่สำคัญ มันเกี่ยวกับทุก ๆ การกระทำที่เกิดขึ้นในใจ ทักษะนี้ต้องการการทุ่มเทและอุตสาหะเป็นพิเศษ รวมทั้งความจริงใจและซื่อตรง การคิดอย่างมีเหตุผลสามารถทำให้สำเร็จได้เฉพาะผู้ที่ถือปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นการฝึกฝนตลอดชีวิต

ความเข้าใจที่ถูกต้องนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง

เป้าหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนาไม่ได้อยู่เพียงแค่ความเข้าใจ แต่อยู่ที่การปฏิบัติจนบรรลุผลตามความเข้าใจนั้น หมายความว่าความเข้าใจเป็นด่านแรกที่เราจะต้องผ่านไปให้ได้ก่อน มิฉะนั้นเราจะบรรลุอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลยก็ได้ และความเข้าใจที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจะต้องมาจากการเข้าใจหรือการคิดอย่างมีเหตุผล (ด้วยตนเอง)

ปัญหาที่เห็นได้ชัดปัญหาหนึ่งในวงการศาสนาบ้านเราคือ ผู้ปฏิบัติมักจะทำตาม ๆ กันโดยปราศจากการไตร่ตรองที่ดี บางครั้งก็ไหลไปตามระบบนี้ บางครั้งก็ติดอยู่ในระบบนั้นโดยไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ๆ และบ่อยครั้งผู้ปฏิบัติมากมายก็ตกเป็นเหยื่อของระบบปฏิบัติที่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง กรณีที่เป็นอันตรายที่สุดคือผู้ปฏิบัติมักติดอยู่กับตัวบุคคลที่สอน แทนที่จะเข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติด้วยตนเอง สาเหตุหนึ่งของกรณีนี้คือผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าความจริงไม่สามารถรู้ได้ด้วยเหตุผล แต่ต้องรู้ด้วยญาณวิเศษอะไรบางอย่างที่ตนไม่มี การพึงพาคนอื่นจึงเกิดขึ้น แล้วก็ตกเป็นเหยื่อในที่สุด

ในระบบที่ผู้เขียนได้วางขึ้น เราจะไม่กล่าวถึงการหลุดพ้นในแง่ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติ อีกทั้งเราจะขอให้ทุกท่านลบคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องออกให้หมดและเลิกใช้คำเหล่านั้น ในที่นี้เราจะไม่พูดถึง ความหลุดพ้น ความสิ้นทุกข์ ความหมดกิเลส การบรรลุธรรม นิพพาน อริยบุคคล พระอรหันต์ และอื่น ๆ ที่ผู้ศึกษาสามารถยึดไว้เป็นเป้าหมายได้ รายละเอียดข้อนี้จะได้อธิบายต่อไปในบทความที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากกว่าคือความเข้าใจที่แท้จริงที่สามารถได้มาด้วยการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง เมื่อเราเข้าใจแล้วและลงมือปฏิบัติตามความเข้าใจนั้น ผลย่อมปรากฏไม่ว่าเราจะต้องการหรือตั้งไว้เป็นเป้าหมายหรือไม่ และเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองด้วยความสุขสงบที่ได้รับ อีกอย่างหนึ่งการใช้เหตุผลถือว่าตรงกับหลักการพึ่งตนเองของพุทธศาสนา เพราะด้วยเหตุผลเราสามารถตัดสินได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการชี้นำจากผู้อื่น

กล่าวโดยสรุป เราจะไปให้สุดทางที่เหตุผลจะพาเราไปได้ก่อน เมื่อนั้นเราจะรู้ว่า อะไรที่รู้ได้ อะไรที่รู้ไม่ได้ อะไรที่ควรรู้ อะไรที่ไม่ควรรู้ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ผู้ที่ปฏิเสธการใช้เหตุผลที่ถูกต้องก่อนลงมือปฏิบัติ ชื่อว่าพาตัวเองไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น และอาจจะหลงทางจนยากที่กลับมาเริ่มต้นใหม่

ถึงแม้เหตุผลจะพาเราไปถึงที่สุดไม่ได้ แต่อย่างน้อยผู้เขียนก็เชื่ออย่างมั่นคงว่า ด้วยการคิดอย่างมีเหตุผลเราสามารถรู้ว่า อะไรคือทาง อะไรไม่ใช่ทาง นั่นคือความสำคัญของการใช้เหตุผล

เชิงอรรถ

  1. “นอกเหตุเหนือผล” https://www.ajahnchah.org/thai/No_Abiding.php 

  2. “No Abiding,” http://www.ajahnchah.org/book/No_Abiding1.php 

  3. หนังสือที่ควรอ่านในเรื่องนี้คือ Thinking, Fast and Slow เขียนโดย Daniel Kahneman (2011, Macmillan) 

  4. หลายคนอาจจะแปล critical thinking ว่าการคิดเชิงวิเคราะห์ (ควรใช้แปล analytical thinking) หรือการคิดเชิงวิพากษ์ (ควรใช้แปล criticizing thinking) ซึ่งไม่ตรงกับความจริง คำที่ควรแปลจริง ๆ คือ การคิดเชิงวิกฤติ ซึ่งไม่รู้จะหมายถึงอะไรในภาษาไทย ดังนั้นผู้เขียนจึงแปลใหม่ว่า การคิดอย่างมีเหตุผล แต่เราต้องทำความเข้าใจเรื่อง เหตุผล ก่อนให้ดีดังที่กล่าวมาแล้ว 

  5. Linda Elder and Richard Paul, 2013, 30 Days to Better Thinking and Better Living Through Critical Thinking: A Guide for Improving Every Aspect of Your Life, revised and expanded ed., Pearson Education, p. 2.