คำแนะนำเบื้องต้น
สารบัญ
เนื้อหาส่วนนี้เรียกว่า บาลีสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอหลักสูตรภาษาบาลีแบบเรียนง่าย มุ่งเพื่อการใช้งานเป็นหลัก และเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษบ้าง เนื่องจากเนื้อหาอย่างละเอียดผู้เขียนได้ทำไว้แล้วในหนังสือ Pāli for New Learners เล่ม 1 และ เล่ม 2 ในที่นี้จะนำบางส่วนมาเขียนใหม่เพื่อผู้เรียนชาวไทยโดยเฉพาะ โดยเนื้อหาจะไม่เข้มข้นเหมือนในหนังสือ เพียงเป็นการแนะนำเป็นแนวทางเท่านั้น ผู้สนใจจริงจังโปรดอ่านจากหนังสือดังกล่าว เนื่องจากเป็นการนำเสนอแบบออนไลน์ เนื้อหาในส่วนนี้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมและโอกาสที่จะเอื้ออำนวย
เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญกว่าภาษาบาลีมาก ทั้งในการดำรงชีพและการศึกษาด้านต่าง ๆ ฉะนั้นผู้ศึกษาจึงควรถือเอาความรู้ภาษาอังกฤษเป็นความจำเป็นที่เร่งด่วนกว่า ด้วยความรู้ภาษาอังกฤษท่านสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองเพราะปัจจุบันความรู้ส่วนใหญ่หาได้ทางอินเทอร์เน็ต การเรียนภาษาบาลีที่นี่จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก คือ ใช้อักษรโรมัน ใช้ศัพท์ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ และแปลความจากบาลีเป็นอังกฤษ รวมทั้งการแต่งบาลีจากภาษาอังกฤษ
ข้อดีอันหนึ่งของการเรียนบาลีด้วยอังกฤษคือเราสามารถใช้เครื่องมือช่วยในการศึกษาที่เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิผล ตัวอย่างเช่น โปรแกรม Pāli Platform
ศูนย์รวมพระไตรปิฎกของ suttacentral.net
ผลงานของอาจารย์ฐานิสสโรภิกขุจาก accesstoinsight.org
กับ dhammatalks.org
และผลงานคุณภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เป็นภาษาอังกฤษอีกมากมาย เป็นต้น กล่าวได้ว่าภาษาอังกฤษจะเปิดโลกทรรศน์ของการศึกษาพุทธศาสนาให้กว้างออกไปอีกหลายเท่าตัว
ปัญหาการศึกษาภาษาบาลี
ความรู้ภาษาบาลีมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล เพราะถ้าเราไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎกในภาษาต้นฉบับได้ เราก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปตลอดจนความมีเหตุมีผลของคำกล่าวอ้างในคัมภีร์ ปัญหาอย่างหนึ่งในการศึกษาภาษาบาลีในบ้านเรา (รวมถึงประเทศเถรวาทอื่น ๆ) คือ เราทำกระบวนการเรียนรู้ให้ยากเกินความจำเป็น ทำให้ความรู้ภาษาบาลีจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบสงฆ์ บุคคลทั่วไปที่จะอ่านคัมภีร์ก็ต้องอ่านผ่านฉบับแปลจากบุคลากรที่ผ่านระบบการศึกษาดังกล่าว ทำให้ผู้ศึกษาขาดทักษะการคิดวิเคราะห์และมักจะเชื่อตาม ๆ กันมา เพราะการแปลในระบบมักจะมีรูปแบบที่ถูกวางไว้แล้วโดยขนบ
เมื่อก่อนบ้านเราศึกษาบาลีโดยใช้มูลกัจจายน์1 ต่อมาสมัยปฏิรูปการศึกษาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นว่าเยิ่นเย้อจึงได้วางหลักสูตรใหม่เป็นบาลีสนามหลวงที่สอนและสอบกันมาจนทุกวันนี้ มาในยุคปัจจุบันไม่กี่สิบปีมานี้มีผู้เห็นว่าการศึกษาบาลีบ้านเราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน จึงรื้อฟื้นการศึกษาแนวขนบขึ้นมาใหม่โดยใช้แนวของพม่า มีหัวเรือสำคัญคือสำนักวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง และสถาบันบาลีศึกษาพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม ระบบเก่าที่รื้อขึ้นใหม่มักเรียกว่า บาลีใหญ่ มีนัยว่ามีอะไรที่ต้องเรียนมากกว่า หรือมีความวิจิตรพิศดารกว่า โดยสรุปคือ บาลีใหญ่ศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ดั้งเดิม ได้แก่ กัจจายนะ ปทรูปสิทธิ สัททนีติ และโมคคัลลานะ เป็นต้น ส่วนบาลีสนามหลวงศึกษาบาลีตามหลักสูตรที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้วางไว้
ผู้เขียนไม่เคยผ่านการเรียนและสอบบาลีอย่างเป็นระบบ มีสมัยหนึ่งเคยท่องบาลีไวยากรณ์ตามแบบที่ภิกษุสามเณรเขาท่องกันไปสอบ พอเห็นว่าไม่ได้ช่วยให้เข้าใจอะไรดีขึ้นก็เลิกไป แต่อานิสงส์จากการท่องจำก็พอมีอยู่ การศึกษาจริงจังของผู้เขียนมาจากตำราภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือของ A. K. Warder (Introduction to Pali), Wilhelm Geiger (A Pāli Grammar), Vito Perniola (Pali Grammar), และ Steven Collins (Pali Grammar for Students) เป็นต้น
การเรียนจากตำราภาษาอังกฤษทำให้ผู้เขียนพบว่าภาษาไทยไม่เหมาะกับการเรียนการสอนภาษาบาลี (ดูด้านล่าง) แต่ตำราภาษาอังกฤษมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถสะท้อนมุมมองตามแบบจารีตได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นการศึกษาที่มาจากภาษาสันสกฤต ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ทำตำราขึ้นเองโดยอิงความรู้จากระบบบาลีใหญ่ที่ศึกษาวิจัยโดยรศ. ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง2 แต่อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ
การศึกษาตามแนวขนบไม่ว่าตามแบบสนามหลวงหรือบาลีใหญ่ล้วนยากเกินความจำเป็นทั้งสิ้น การศึกษาเหล่านี้ยังคงสำคัญโดยเฉพาะระบบบาลีใหญ่3 เพราะการศึกษาวิจัยเชิงลึกมีคุณค่าทางวิชาการโดยตัวของมันเอง แต่สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการรู้บาลีเพียงอ่านออกเขียนได้ ความรู้เหล่านี้มากและซับซ้อนเกินไป เป็นการท่วมทับผู้ศึกษาด้วยข้อมูลมหาศาลที่ไม่อาจหยิบจับอะไรมาใช้ประโยชน์ได้ และในปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับกลุ่มคนดังกล่าว
ด้วยเหตุที่กล่าวมา ในตำราของผู้เขียนจึงเปลี่ยนวิธีเรียนใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น (แต่ในตำรายังอิงความรู้จากระบบบาลีใหญ่อยู่) ไม่ได้เน้นการท่องจำเหมือนระบบจารีต ในระบบนี้จะเน้นความเข้าใจ การใช้งาน และเรียนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
สรุปปัญหาการศึกษาบาลีในปัจจุบัน
- มีเนื้อหามากเกินความจำเป็น
- เน้นการท่องจำมากกว่าความเข้าใจ
- ไม่สนับสนุนให้คิดอย่างมีเหตุผล
- ใช้ภาษาไทยที่ทำให้บาลีบิดเบือน
- ล้าสมัย
- ใช้เวลาเรียนนานมาก
เรียนบาลีด้วยอังกฤษง่ายกว่าและตรงกว่า
บาลีเป็นภาษาลูกหลานของสันสกฤต ส่วนสันสกฤตก็มีรากเง้าอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Indo-European (ในกลุ่มย่อย Indo-Aryan) ซึ่งเป็นสายเดียวกับภาษาของยุโรปรวมทั้งภาษาอังกฤษ นี่เป็นเหตุผลที่ภาษาบาลีมีโครงสร้างทางไวยากรณ์บางส่วนคล้ายกับภาษาอังกฤษ (เช่นมีบุรุษ กาล และวจนะ) และแตกต่างอย่างชัดเจนกับภาษาไทยที่อยู่ในตระกูล Sino-Tibetan
ด้วยเหตุผลนี้อย่างเดียวก็เพียงพอแล้วที่เราควรจะเลิกสอนภาษาบาลีด้วยภาษาไทย เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจยากแล้วยังทำให้การแปลบิดเบือนด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) อีกทั้งปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากต่อการดำรงชีวิต การศึกษาบาลีก่อนการเรียนภาษาอังกฤษจนใช้งานได้จึงไม่มีเหตุผลที่สมควรโดยประการทั้งปวง4
เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ ขอยกตัวอย่างที่ภาษาไทยทำให้การแปลบาลีบิดเบือน ถ้าจะว่าโดยละเอียดเราจะพบจุดเหล่านี้มากมาย (ผู้สนใจควรจะทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ต่อไป) ในที่นี้ขอยกเพียง 3 กรณีที่เห็นได้ชัด ดังนี้
ประโยคกัมมวาจก (passive structure)
เนื่องจากภาษาไทยไม่มีโครงสร้างกัมมวาจก การแปลจึงบังคับให้โครงสร้างของประโยคเปลี่ยนไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
โอทโน สูเทน ปจิยเต
odano sūdena paciyateข้าวสุก อันพ่อครัว หุงอยู่ (คำแปลตามแบบ)
Rice, by the chef, is cooked. (my translation)
จะเห็นว่าในภาษาไทย “ข้าวสุกอันพ่อครัวหุงอยู่” ไม่ใช่ประโยคแต่เป็นคำนามกับส่วนขยาย แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “rice being cooked by the chef” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ประโยคหมายถึง การแปลที่ใกล้เคียงกว่าคือ “ข้าวสุกถูกหุงโดยพ่อครัว” อันนี้ไม่ใช่โครงสร้างที่นิยมในภาษาไทยแต่เป็นการถอดมาจากโครงสร้างภาษาอังกฤษ ในทางปฏิบัติการแปลกัมมวาจกเป็นภาษาไทยส่วนใหญ่จึงต้องดัดให้เป็นกัตตุวาจกแทน คือ “พ่อครัวหุงข้าวสุก” ซึ่งทำให้ความหมายดั้งเดิมเสียไป
ประโยคภาววาจก (impersonal passive structure)
ประโยคภาววาจกคือประโยคกัมมวาจกที่มีอกรรมกริยา อันนี้เข้าใจได้ยากกว่า ภาษาอังกฤษเองก็ไม่มีโครงสร้างแบบนี้ทำให้จะต้องมีการดัดแปลงการแปลบ้าง ลองเปรียบเทียบกับภาษาไทยจากตัวอย่างต่อไปนี้
ปุริเสน มริยเต
purisena mariyateอันบุรุษ ย่อมตาย (คำแปลตามแบบ)
By a man, dying is done. (my translation)
ว่ากันตามภาษาไทย “อันบุรุษย่อมตาย” ไม่มีความหมาย ในการแปลเอาความอันนี้หมายถึง “บุรุษตาย” นั่นเอง แต่การแปลอย่างนี้ทิ้งโครงสร้างภาษาบาลี การแปลเป็นภาษาอังกฤษก็มีปัญหาเหมือนกัน โดยวิธีที่ผู้เขียนเสนอ เราจะแปลง passive verb ให้เป็น action/verbal noun แล้วเพิ่มกริยา is done เข้าไป อย่างนี้จะได้โครงสร้างใกล้เคียงกับต้นฉบับ เพราะภาวะหมายถึงสภาวะอันแสดงด้วย verbal noun ในภาษาอังกฤษอาจจะแปลทิ้งโครงสร้างเป็น “A man by himself dies” อย่างนี้ยังพอรักษาอรรถะของอัตตโนบท (middle voice) ไว้ได้
ประโยคตุํ (infinitive)
อันนี้สร้างความสบสันมากที่สุดเมื่อเราพยายามทำให้เป็นภาษาไทย ตามตัวอย่างดังนี้
ตยา สีลํ รกฺขิตุํ วฏฺฏติ
tayā sīlaṃ rakkhituṃ vaṭṭatiอันอันท่าน รักษา ซึ่งศีล ย่อมควร (คำแปลตามแบบ)
By you, to observe the precept is suitable. (my translation)
การแปลเอาความในภาษาไทยจะได้ว่า “ท่านสมควรรักษาศีล” ซึ่งไม่ได้มีโครงสร้างตามบาลี ประโยคอย่างนี้แปลเป็นอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในทางปฏิบัติอาจจะแปลว่า “It is suitable to observe the precept by you” หรือจะแปลหักว่า “It is suitable for you to observe the precept”
เรียนบาลีไวยากรณ์ไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง
จุดอ่อนของการสอนบาลีตามแบบขนบในบ้านเรา คือ เราพยายามสอนให้รู้ทุกอย่างอย่างละเอียด และเราพยายามให้ความหมายทุกศัพท์ (โดยเฉพาะนิบาต) อย่างนี้ทำให้เป็นภาระต่อผู้เรียนมากเกินความจำเป็น เพราะบางเรื่องเราไม่ต้องรู้ก็ได้ คือไม่ส่งกระทบต่อการแปล และบางศัพท์ละไว้ไม่ต้องแปลก็ได้ (นิบาตจำนวนมากเป็นเพียงตัวทำบทให้เต็ม และบางครั้งความหมายของนิบาตต้องอาศัยบริบทจึงแปลได้ หมายความว่าตัวนิบาตเองไม่ต้องแปลก็ได้ ยกเว้นบางตัวที่มีอำนาจเปลี่ยนความเช่น น)
เรื่องที่ไม่ควรรู้เรื่องแรกคือหลักการของสนธิ ในคัมภีร์ใหญ่ทั้งสาม (กัจจายนะ โมคคัลลานะ และสัททนีติ) สนธิถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรู้เป็นอันดับต้น ๆ มีหลักการวางไว้มากมาย ปัญหาสำคัญคือ ดูเหมือนสนธิจะมีหลักการแต่ความจริงไม่มี คืออะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อคำมาต่อกัน หลักการเป็นเพียงการหาเหตุผลย้อนหลัง ซึ่งมากเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้และบางครั้งการผสมคำเกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ (บางสูตรวางไว้เพื่ออธิบายคำเพียงคำเดียว) ด้วยเหตุผลนี้ ในตำราของผู้เขียนจึงไม่กล่าวถึงหลักการของสนธิ การเรียนที่ได้ผลคือการเห็นรูปสนธิมาก ๆ แล้วจำไว้ โดยไม่ต้องรู้หลักการ เมื่อเห็นบ่อย ๆ จะเข้าใจได้เองว่าควรจะแตกหรือประกอบศัพท์อย่างไร ส่วนในการแต่งบาลีผู้เขียนไม่สนับสนุนให้ใช้สนธิ เพราะเป็นการทำลายความชัดเจนในการสื่อสาร (ความชัดเจนสำคัญกว่าความสละสลวย) ตัวอย่างเช่น การใช้ น อหํ ชัดเจนกว่าใช้ นาหํ (บางครั้งก็จำเป็นเวลาแต่งฉันท์)
เรื่องที่สองที่ไม่ควรรู้คือการทำงานของวิภัตติปัจจัยโดยละเอียด เพื่อให้เห็นภาพลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้
หลัง ปุริส ลง สิ ปฐมาวิภัตติ | ปุริส + สิ |
หลังจาก อ การันต์ แปลง สิ เป็น โอ | ปุริส + |
แยกพยัญชนะ สฺ ออกจากสระ อ | ปุริสฺ อ + โอ |
ลบสระหน้า เพราะสระหลัง ๆ เป็นปกติ | ปุริสฺ |
นำพยัญชนะ สฺ ไปประกอบกับสระ โอ | ปุริโส |
ตัวอย่างข้างต้นเป็นคำอธิบายอย่างละเอียดในการลง สิ (si) วิภัตติกับนามศัพท์ปุลลิงค์ที่ลงท้ายด้วย อ (a)5 จากตัวอย่างเราเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นก็จริงแต่เราเข้าใจไม่ได้เลยว่า ทำไม si ลงหลัง a แล้วจึงเป็น o (purisa + si = puriso) ในขณะที่ลงหลัง i แล้วหายไป (aggi + si = aggi) หรือลงหลัง ā ของอิตถีลิงค์ศัพท์แล้วหายไป (kaññā + si = kaññā) แต่ลงหลัง a ของนปุงสกลิงค์ศัพท์กลับได้ ṃ (kula + si = kulaṃ) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หลักการ เป็นเพียงคำอธิบายย้อนหลัง ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็น prescriptive explanation ในการศึกษาตำราบาลีใหญ่เราจะต้องเสียเวลาและพลังงานกับเรื่องเหล่านี้ไม่น้อย โดยไม่ได้ความเข้าใจกลับมาเลย
จากที่กล่าวมา การเรียนเรื่องวิภัตติของนามทำได้ดีที่สุดคือศึกษาจากตัวอย่าง คือท่องตามแบบที่ภิกษุสามเณรเขาเรียนกัน หรือจำหลักคร่าว ๆ ตามที่ผู้เขียนได้ทำไว้ในหนังสือเรียน ถึงแม้โปรแกรม Pāli Platform
จะช่วยหาตารางการลงวิภัตติได้อย่างรวดเร็ว แต่ความจำเป็นในการจดจำเป็นเบื้องต้นของผู้เริ่มศึกษายังมีอยู่
ความจริงผู้เขียนสามารถยกเรื่องที่สามที่สี่และอีกมากมายที่ผู้ศึกษาไม่จำเป็นต้องรู้6 แต่ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน จะว่าไปอาจจะสรุปได้ว่าโครงสร้างที่วางไว้ในตำราบาลีใหญ่ทั้งหลายนั้นไม่เอื้อต่อการศึกษาเพื่อความเข้าใจและใช้งาน ดังนั้นการปฏิวัติรูปแบบการเรียนบาลีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้เขียนสร้างตำราและหลักสูตรในโครงการนี้ขึ้นมา
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเลิกเรียนบาลีใหญ่ การศึกษาบาลีในเชิงลึกยังมีความสำคัญ แต่ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้น การผลิตตำราสอนบาลีใหญ่มีประโยชน์มากต่อการศึกษาโดยรวม แต่สิ่งที่ขาดไปคือหลักสูตรเบื้องต้นที่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย โดยไม่ต้องไปเสียเวลากับคำอธิบายเชิงวิชาการ (ที่ทำความเข้าใจไม่ได้)
โครงสร้างหลักสูตร
เนื่องจากหลักสูตรที่วางไว้นี้เน้นการศึกษาด้วยตนเองเป็นหลัก การวางเนื้อหาจึงเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ไปสู่เรื่องที่ยากขึ้น เมื่อพบว่าคำอธิบายไม่เพียงพอให้ดูเพิ่มเติมจากหนังสือ เป้าหมายสำคัญคือการสร้างความเข้าใจเพื่อใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น โดยลดภาระการจำให้น้อยที่สุด (แต่บางส่วนก็ยังจำเป็น) โครงสร้างของหลักสูตรมีดังนี้
- การแต่งประโยคขั้นต้น จะเริ่มให้ผู้เรียนแต่งประโยคบาลีอย่างง่าย โดยเรียนการแปรรูปคำนาม คุณศัพท์ และสรรพนามที่ใช้บ่อย รวมทั้งการใช้คำกริยาอย่างง่าย ๆ จุดประสงค์หลักของขั้นนี้คือ ให้ผู้เรียนเข้าใจและคุ้นเคยกับการแปรรูปนามตามหน้าที่ทั้ง 8 เคส เพื่อสร้างบทสนทนาอย่างง่าย ๆ ได้
- การแต่งประโยคขั้นกลาง จะเพิ่มความรู้ในส่วนอื่น ๆ ได้แก่ การแปรรูปนามพิเศษ โครงสร้าง ya-ta การใช้ particles ต่าง ๆ การเปรียบเทียบคุณศัพท์ การใช้สรรพนามอื่น ๆ การใช้ตัวเลข และการใช้กริยาวิเศษณ์ เป็นต้น
- การแต่งประโยคขั้นสูง จะสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้กริยาบาลีแบบต่าง ๆ
- การอ่านคัมภีร์บาลี จะวางพื้นฐานเพื่อการอ่านคัมภีร์บาลีด้วยตัวเอง
เนื้อหาส่วน การแต่งประโยคขั้นต้น ได้ทำไว้ครบแล้ว จึงควรศึกษาเป็นลำดับไป เพราะความรู้บทแรก ๆ จำเป็นสำหรับการเรียนรู้บทต่อ ๆ ไป ในส่วน การแต่งประโยคขั้นกลาง จะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มเนื้อหาเข้าไป ซึ่งลำดับการศึกษาไม่ได้เคร่งครัดเหมือนภาคแรก เป็นการเก็บตกสิ่งที่ยังไม่ได้พูดถึงหรือเพิ่มคำอธิบายในเรื่องที่ได้เกริ่นไว้ ผู้เรียนอาจจะเรียนเรื่องที่ตนเองสนใจก่อนได้
สำหรับ การแต่งประโยคขั้นสูง ถือว่ามีความสำคัญต่อความเข้าใจภาษาและการอ่านคัมภีร์บาลี แต่คำกริยาบาลีเป็นเรื่องยากและมีเนื้อหามาก จึงนำมารวมไว้เป็นส่วนเดียว ผู้เรียนอาจจะหยิบบางส่วนของภาคนี้ไปศึกษาก่อนได้ถ้าจำเป็น แต่การเรียนไปตามลำดับสามารถสร้างความเข้าใจที่เป็นระบบกว่า
สิ่งที่ต่างจากการศึกษาบาลีตามแนวขนบอย่างชัดเจนคือ เราจะไม่เริ่มด้วยการท่องหลักไวยากรณ์แล้วหยิบหนังสือขึ้นมาแปลเลย การเรียนที่ได้ผลไวคือเราต้องเรียนแต่งประโยคก่อนเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยค่อย ๆ เพิ่มความรู้ด้านไวยากรณ์เข้าไปเท่าที่จำเป็น เมื่อผู้เรียนเข้าใจการแต่งประโยคแล้วทั้งสามขั้น จึงจะเริ่มอ่านคัมภีร์จริงซึ่งเราจะให้อ่านพระไตรปิฎกก่อนเพราะง่ายกว่า เมื่อทำได้อย่างนี้การศึกษาเพิ่มเติมสามารถทำต่อไปได้ด้วยผู้เรียนเอง การเรียนรู้เพื่ออ่านอรรถกถาและคัมภีร์อื่น ๆ ก็จะทำได้ไม่ยากนัก
ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบใหม่นี้ ผู้เรียนควรจะอ่านพระไตรปิฎกได้ด้วยตัวเองภายใน 1 ปี ที่ว่า “อ่านได้” ไม่ใช่อ่านได้แบบอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน แต่สามารถใช้เครื่องมือช่วย เช่น พจนานุกรม ตารางการแปรรูปต่าง ๆ และตารางช่วยอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อแปลเนื้อความภาษาบาลีได้ด้วยตนเอง อาจจะมีฉบับแปลของคนอื่นเป็นแนวทางก็ได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยตัวเองว่าทำไมเขาจึงแปลไปเช่นนั้น มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร และเราสามารถแปลให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เนื่องจากการเรียนแบบมีผู้แนะนำย่อมได้ผลที่ดีกว่ามาก แต่หลักสูตรการศึกษานี้ยังใหม่มาก ผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบจารีตมาจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมดจึงจะแนะนำตามแนวทางนี้ได้ มิเช่นนั้นก็จะพากลับไปใช้วิธีเดิม ๆ ซึ่งเสียเวลาและไม่ได้ผล ดังนั้นผู้ที่จะแนะนำได้ดีจริง ๆ จึงยังมีไม่มาก ขอให้ผู้ศึกษาพึ่งพาตัวเองไปก่อน ถ้ามีคนสนใจการศึกษาแนวนี้มากขึ้น การทำหลักสูตรเพื่อฝึกอบรมเป็นเรื่องเป็นราวก็สามารถเกิดขึ้นได้
ก่อนการศึกษาภาษาบาลีในหลักสูตรนี้ ขอให้สำรวจภาคผนวกของหนังสือ Pāli for New Learners, Book 1 ก่อนเพื่อความสะดวกในการอ้างอิงภายหน้า โดยเฉพาะตารางการแปรรูปนาม (Appendix B) ตารางการแปรรูปกริยา (Appendix C) และคำศัพท์สำคัญ (Appendix L)
สรุป
หลักสูตร บาลีสำหรับคนรุ่นใหม่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาภาษาบาลีตามแนวของผู้เขียน ผู้ที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ โปรดอ่านจากหนังสือเหล่านั้น จะได้ประโยชน์ครบถ้วน ส่วนผู้ที่ยังต้องอาศัยคำอธิบายภาษาไทยสามารถเริ่มต้นได้ที่นี่ แต่อย่างไรการศึกษาภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยยังมีความจำเป็น เพราะรายละเอียดทั้งหมดไม่สามารถจะนำมาลงได้ (และผู้เขียนไม่มีนโยบายที่จะแปลหนังสือออกเป็นภาษาไทย) ผู้ศึกษายังคงต้องอาศัยความรู้จากหนังสืออยู่นั่นเอง
สำหรับผู้เริ่มศึกษาที่ไม่เคยผ่านการศึกษาบาลีมาก่อนไม่ว่าระบบใด การเริ่มต้นจากบทเรียนในหลักสูตรนี้สามารถสร้างความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้เรียนไม่ต้องรับรู้สิ่งไม่จำเป็นต่าง ๆ ที่จะพาให้สับสน ต่อเมื่อท่านเข้าใจพื้นฐานดีแล้ว การศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งด้วยตนเองต่อไปก็จะทำได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่เคยศึกษาจากระบบอื่นมาก่อนอาจจะต้องปรับวิธีคิดบ้างจึงจะได้ประโยชน์
สำหรับผู้ที่จะสอบบาลีสนามหลวง ที่นี่ไม่ใช่ที่เหมาะสมสำหรับเรียนรู้ ท่านจะสอบไม่ผ่านถ้าศึกษาตามแนวนี้ ผู้ที่จะสอบก็ควรจะเรียนและท่องจำไปตามระบบ แต่ถ้าท่านต้องการความเข้าใจเพิ่มเติมความรู้ที่นี่อาจจะพอช่วยได้บางส่วน
สำหรับผู้ที่ศึกษาบาลีใหญ่ เนื้อหาในนี้อาจจะไม่เหมาะสมเช่นกัน (แต่การศึกษาจากหนังสือของผู้เขียนอาจจะพอช่วยสร้างความกระจ่างได้ในบางเรื่อง) เพราะผู้เขียนไม่ได้เดินตามระบบนั้น และบางครั้งก็มีความเห็นไม่ตรงตามที่ระบบวางไว้ หลักการสำคัญของเราคือการใช้เหตุผล ดังนั้นเราจะเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่เข้าใจได้ มีเหตุผล และนำไปใช้ได้จริงเท่านั้น
เชิงอรรถ
-
เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาใหม่จากคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายนะ ดูที่ พระคัมภีร์กัจจายนมูล เรียบเรียงโดย พระราชปริยัติโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) พิพม์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 สถาบันบาลีศึกษาพุทธโฆส ↩
-
สุภาพรรณ ณ บางช้าง, 2538, ไวยากรณ์บาลี, มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ↩
-
ระบบบาลีสนามหลวงถือได้ว่าล้าสมัยแล้ว ปัจจุบันการสอบบาลีเป็นเพียงการคัดคนเพื่อเข้าสู่ระบบข้าราชการพระ ผู้ศึกษาจะเตรียมการสอบก็ตอนก่อนสอบ (เหมือนการสอบในวิทยาลัยทางโลกทั่วไป) และเมื่อสอบเปรียญได้ตามที่ตั้งไว้ผู้ศึกษาส่วนใหญ่ก็ละทิ้งการเรียน (ถือว่าเป็นมหาก็พอแล้ว) มีน้อยมากที่จะพัฒนาตำราหรือคิดปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ผู้ที่สนใจจริงจังส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อสายบาลีใหญ่แทน หรือไม่ก็ไปเรียนที่พม่า ↩
-
สมัยก่อนคนไม่ชอบให้พระเรียนภาษาอังกฤษเพราะกลัวว่าเมื่อพระมีความรู้ทางโลกมากแล้วจะลาสิกขาไปทำงานแบบฆราวาส อีกอย่างคนที่รู้ภาษาอังกฤษมาก ๆ จะกลายเป็นคนหัวแข็งไป นี่เป็นความคิดที่คับแคบ ในปัจจุบันเราควรละทิ้งทัศนคติแบบนี้และสนับสนุนให้ทุกคนเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เพื่อตัวของบุคคลเองและเพื่อประเทศชาติโดยรวม การรู้ภาษาอังกฤษจะทำให้บุคคลแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบ ผู้เขียนยังคิดเลยไปว่า ถ้าประเทศไทยประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการภาษาที่สอง ประเทศของเราจะไม่ย่ำอยู่กับที่เหมือนเมื่อก่อนและจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นภายใน 30 ปี เมื่อคนวัยทำงานทุกคนรู้ภาษาอังกฤษ แต่ผู้ปกครองอาจจะไม่ชอบเพราะคนรู้มากย่อมปกครองยากกว่า ↩
-
ดัดแปลงจาก รูปสิทธิทีปนี เล่ม 1 รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระมหาธิติพงศ์ อุตฺตมปญฺโญ (2560, ประยูรสาส์นไทย การพิมพ์) หน้า 132 ↩
-
เรื่องหนึ่งที่ควรพูดถึงคือวิชาสัมพันธ์ โดยหลักการคือการระบุว่าคำต่าง ๆ ในประโยคทำหน้าที่อะไร มีศัพท์เทคนิคทางสัมพันธ์ที่ต้องจำมากมาย หน้าที่ของคำ (part of speech) นี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้เพราะถ้าไม่รู้ก็จะแปลไม่ได้ แต่เนื้อหาวิชาสัมพันธ์นั้นเยิ่นเย้อและไม่ช่วยอะไรมากนัก หลายคนเชื่อว่ารู้วิชาสัมพันธ์จะทำให้แปลง่ายขึ้น แต่ความจริงผู้เรียนจะต้องแปลได้ก่อนจึงจะเข้าสัมพันธ์ได้ วิชาสัมพันธ์จึงเหมือนภาระที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็น การเข้าสัมพันธ์มีประโยชน์เพียงให้คนอื่นเข้าใจว่าเราแปลอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้เราแปลได้ ↩