หลักสำคัญในการฝึกสมาธิ
สารบัญ
บทความนี้มีเนื้อหาคล้ายกับฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนใว้ใน “A Humble Guide to Meditation” แต่รายละเอียดอาจจะไม่ตรงกันเพราะเขียนขึ้นใหม่ไม่ได้แปลมาตรง ๆ ฉะนั้นขอให้ผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมในฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าวด้วย
เรื่องการฝึกสมาธินี้มีความสำคัญต่อการศึกษาพุทธศาสนา เพราะถ้าเอาแต่รู้อย่างเดียวไม่ลงมือปฏิบัติ ความรู้ที่ได้ก็ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้เป็นครูสมาธิ แม้จะผ่านการฝึกอบรมและปฏิบัติมาพอสมควร และผู้เขียนก็ไม่คิดจะทำหลักสูตรอะไรแบบนั้นเป็นกิจจะลักษณะ บทความนี้จึงเป็นเพียงคำแนะนำสั้น ๆ และสำคัญจริง ๆ
เหตุผลสำคัญคือคนที่จะสอนการทำสมาธิได้ดีที่สุดคือตัวของผู้ปฏิบัติเอง การทำสมาธิที่ถูกต้องจะต้องเริ่มที่บ้าน ไม่ใช่ที่วัด และการทำจะต้องไม่ยากและซับซ้อนเกินไป หลักการสำคัญของการทำสมาธิมี 3 ประการคือ
- นั่งสมาธิทุกวัน
- หมั่นมีสติทั้งใจกาย
- ทำลายความหวังและความเชื่อ
สมาธิต้องทำทุกวัน
ข้อนี้สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่ทำทุกวันการฝึกของเราจะไม่ก้าวหน้าไปไหน นี่เป็นเหตุผลที่การฝึกสมาธิจะต้องเริ่มที่บ้านและใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติที่บ้าน เราจะต้องทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกในวาระพิเศษปีละครั้งสองครั้ง วิธีที่ใช้ไม่ได้สำคัญไปกว่าความสม่ำเสมอ และในการนั่งแต่ละครั้งเราจะต้องทำให้ตลอดตามที่ตั้งใจใว้ ข้อแนะนำสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติมีดังนี้
- ใช้เครื่องกำหนดเวลา (timer) อย่ากำหนดเวลาการนั่งเอาเองในใจ หรือนั่งไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกพอไปเอง อย่างนี้จะไม่ก้าวหน้าและทำให้เรานั่งเฉพาะตอนที่อยากนั่งเท่านั้น ให้ใช้เครื่องกำหนดเวลาทุกครั้งที่ปฏิบัติ และถ้าเป็นไปได้ให้ทำเวลาเดิมทุกวัน ถ้านึกไม่ออกว่าเครื่องกำหนดเวลาสำหรับนั่งสมาธิเป็นอย่างไร ดูที่ PPMT
- เริ่มจากเวลาสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อทำได้แล้ว สำหรับผู้ไม่เคยปฏิบัติเลยให้เริ่มที่ 5 นาทีต่อครั้ง เมื่อทำได้ให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 5 นาที (หรือสัปดาห์ละ 1 นาที) อย่างนี้เมื่อปฏิบัติครบหนึ่งปี ท่านควรจะนั่งได้ 1 ชั่วโมง เมื่อได้ถึงจุดนี้จะลดลงมาบ้างก็ได้ถ้าไม่มีเวลามากพอ
- ทุกครั้งที่นั่งต้องทำให้ตลอดอย่าเลิกกลางคัน ข้อนี้สำคัญมาก เป็นการฝึกเพื่อเพิ่มอธิษฐานบารมี ถ้าเราไม่สามารถนั่งได้ตลอดบัลลังก์ ให้ลดเวลาลงเท่าที่สามารถทำได้ นั่งน้อยแต่ทำได้ตลอด ดีกว่านั่งนานแต่เลิกกลางคัน
- เป้าหมายคือการนั่ง 30 นาทีทุกวันเป็นอย่างน้อย เมื่อท่านคุ้นเคยกับการปฏิบัติและสามารถนั่งได้ 1 ชั่วโมง ท่านสามารถเข้าคอร์สปฏิบัติที่ไหนก็ได้ แต่ในชีวิตประจำวันให้นั่ง 30 นาทีเป็นอย่างน้อย วันละครั้งหรือมากกว่า วันที่ยุ่งจริง ๆ ท่านสามารถนั่ง 15 นาทีได้แต่ต้องไม่ต่อเนื่องกันสองวัน และจะไม่มีวันไหนเลยตั้งแต่เริ่มปฏิบัติที่ท่านไม่นั่งสมาธิ
ขอเน้นอีกครั้งว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจ (resolution) คำเทคนิคเรียกว่า การอธิษฐาน (ไม่ใช่การขอแต่เป็นการตั้งใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ) เมื่อตั้งใจจะนั่งแล้วให้ทำจนเสร็จตามที่กำหนด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะไม่เลิกเสียกลางทาง (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ และเมื่อบัลลังก์หนึ่งถูกเลิกไปก็ควรจะนั่งชดเชย) นี่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดของนักปฏิบัติที่จะประสบความสำเร็จ
เมื่อท่านปฏิบัติได้สัก 2–3 ปีแล้วอาจจะทดลองนั่งให้นานขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น 2–3 ชั่วโมงต่อครั้ง อย่างนี้จะเพิ่มประสบการณ์การปฏิบัติให้มากขึ้น อันที่จริงก็ไม่ได้จำเป็น เพราะเราไม่ได้นั่งเอาเวลา การนั่งด้วยช่วงที่สั้นแต่หลายครั้งในแต่ละวันได้ผลดีกว่าการนั่งนาน ๆ ที่ทำหลายวันครั้งหนึ่ง การนั่งตลอดคืนเป็นเพียงแค่เกมที่เล่นโดยอัตตา ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ การนั่งตอนร่างกายกำลังสดชื่นและมีสติแข็งแรงได้ประโยชน์กว่าตอนร่างกายอ่อนเพลียมากมายนัก
ความมีสติคือหัวใจของสมาธิ
ความมีสติเป็นสาระสำคัญของการทำสมาธิ หมายความว่าตอนที่นั่งท่านต้องรู้ตัวตลอด ไม่ได้หลับหรือตกภวังค์ในระหว่างทาง ท่านต้องทำเหมือนการดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คือดูให้ตลอดไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นให้รู้ มิเช่นนั้นท่านจะดูหนังไม่รู้เรื่อง ปรากฏการณ์ที่เกิดระหว่างการนั่งสมาธินั้นมีมากมาย ทั้งทางร่างกาย เช่น ความเคลื่อนไหวตอนหายใจ ความร้อน เย็น เจ็บ คัน ปวดเมื่อย จนถึงความสบายกายในลักษณะต่าง ๆ และทางจิตใจ เช่น ความคิด ความง่วง ความเบื่อ ความฝัน (ภาพนิมิตต่าง ๆ) และปิติ เป็นต้น เหล่านี้ท่านต้องรู้ทั้งหมด และไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ให้ดูอย่างเดียวเหมือนดูหนัง (แต่ไม่ใช้หลงจมอยู่ในความคิด)
เป็นธรรมดาสำหรับผู้เริ่มฝึกที่จะมีการเผลอบ่อย ๆ คือพอดูลมหายใจไปสักพักเราก็หลงไปกับความคิดที่เกิดขึ้นจนลืมไปว่าเรากำลังหายใจอยู่ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ดูหนังที่เล่นอยู่ แต่เผลอใช้จิตไปคิด (ตอนที่คิดเราจะไม่รู้ตัวว่ากำลังคิดเพราะตัวรู้ไปทำหน้าที่คิดเสีย) แต่สักพักเราจะนึกได้ว่ากำลังนั่งสมาธิอยู่และรู้ว่าเผลอคิดไป การฝึกบ่อย ๆ จะทำให้ช่วงที่เผลอนี้สั้นลง ความรู้ตัวก็จะมีมากขึ้น ฉะนั้นอย่าไปกังวลเรื่องความคิด เมื่อเผลอพอรู้ว่าเผลอก็ดึงกลับมา ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
ความหวังและความเชื่อคืออันตราย
ถ้าไม่มีข้อนี้สิ่งที่ท่านฝึกมาทั้งหมดอาจจะสูญเปล่าหรือไม่ได้อะไร จริงอยู่ที่เราต้องมีแรงจูงใจบางอย่างในการเริ่มปฏิบัติ เป้าหมายที่ควรจะตั้งใว้คือการนั่งสมาธิให้ครบตามกำหนด เป้าหมายอย่างอื่นนอกจากนี้เป็นอันตรายทั้งสิ้น ไม่ว่า เพื่อจะบรรลุธรรม เพื่อสิ้นทุกข์ เพื่อละกิเลส เพื่อได้ประสบการณ์ทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพื่อเห็นการดับของจิตหรือเพื่อได้ฌานเป็นต้น) หรือแม้แต่เพื่อลดความเครียด (ไม่ต้องพูดถึงความหวังที่เกิดจากกิเลส เช่น อยากเห็นเลข อยากเห็นอนาคต อยากมีฤทธิ์ อยากแก้กรรม เป็นต้น) การสร้างความหวังในการฝึกสมาธิเป็นเครื่องกีดขวางความสำเร็จตัวสำคัญ
ความเชื่อต่าง ๆ ก็เป็นอันตรายเหมือนกัน ทางที่ดีคือควรทิ้งความเชื่อต่าง ๆ ให้หมด แล้วเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์สดของเราเอง ความเชื่ออาจจะทำให้ท่านคิดว่าสิ่งที่เห็นหรือเกิดขึ้นนั้นเป็นจริงเป็นจัง เช่น จากประสบการณ์บางอย่างท่านอาจจะทึกทักเอาเองว่าได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง ได้ญาณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเทวดา พระอรหันต์ หรือกระทั่งพระพุทธเจ้ามาหาจริง ๆ อย่างนี้จะพาให้ท่านเป็นบ้าได้
คำแนะนำที่อาจเป็นประโยชน์ในเรื่องความเชื่อ (แต่บุคลากรทางศาสนาอาจจะไม่ชอบ) คือ ให้ท่านทำลายพจนานุกรมทางศาสนาของท่านเสีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางศาสนา นั่นคือในการปฏิบัติเราจะไม่คิดและพูดถึง นิพพาน ความรู้ัแจ้ง การหลุดพ้น การบรรลุมรรคผล การทำลายอัตตา การทำลายกิเลสตัณหา การทำลายภพชาติ1 และความเป็นอริยบุคคล เป็นต้น ถ้าท่านไม่ทิ้งบัญญัติเหล่านี้ ประสบการณ์ที่ได้จะถูกครอบด้วยความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านสนใจเพียงแค่ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยไม่ต้องอธิบายหรือหาคำจำกัดความ
ผู้ปฏิบัติหลายท่านมีความหวังที่จะถูกหวยทางการปฏิบัติ คือการบรรลุธรรมอย่างฉับพลันไม่คาดคิด อย่างนี้ก็เป็นความหวังที่กีดขวางความสำเร็จ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเสี่ยงโชค ทางที่สมควรคือท่านต้องดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติ และต้องทำกันตลอดชีวิต ผลจะเกิดขึ้นแน่นอน แม้จะไม่ต้องการก็ตาม ท่านสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองภายหลังการปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี (อย่าหวังอะไรที่เร็วกว่านั้น)
เมื่อผู้ปฏิบัติทำสมาธิทุกวันตามหลัก 3 ประการข้างต้นเป็นเวลา 10 ปี ให้ย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง 10 ปีก่อนหน้านั้น ท่านจะพบว่าท่านสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ไม่ได้โกรธง่ายเหมือนก่อน มีความอยากน้อยลงในเรื่องที่ไม่จำเป็น มีความกลัวอย่างไร้เหตุผลน้อยลง มีความยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ น้อยลง และมีสติมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นี่เป็นผลที่พึงได้รับจากการปฏิบัติถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาทุกประการ และผลที่ได้เหล่านี้จะดีขึ้น ๆ ในอีก 10 ปีถัดไป
ข้อควรพิจารณาอื่น ๆ
ในการปฏิบัติจริงมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจด้วย แต่ขอให้จับหลักการ 3 ข้อข้างต้นให้มั่นคง ก่อนจะไปพิจารณาอย่างอื่น ผู้เขียนขอสรุปเรื่องที่ควรรู้คร่าว ๆ ดังนี้
- ลมหายใจเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดในการทำสมาธิเพราะทุกคนมีเหมือนกันและเราต้องหายใจกันตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิการตามดูลมหายใจทุกครั้งที่มีโอกาสจะช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าได้เร็วขึ้น
- เพื่อการหายใจที่ถูกต้องอาจจะต้องฝึกกันบ้าง การหายใจที่ดีจะต้องลึก ยาว และรู้สึก “อิ่ม” (ผู้เขียนมักจะรู้สึกว่าลมหายใจ “หวาน”)
- ท่านั่งที่ดีที่สุดคือขัดสมาธิ (ครึ่งเดียว) จะขวาทับซ้ายหรือซ้ายทับขวาก็ได้ ท่านี้จะทำให้นั่งได้นาน ผู้ปฏิบัติควรจะฝึกเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย อาจจะต้องใช้เวลาบ้างแต่ก็คุ้ม เพราะท่านต้องนั่งอย่างนี้ตลอดชีวิต การยกก้นให้สูงขึ้นโดยใช้เบาะรองจะช่วยให้หลังตั้งตรง เมื่อหลังตรงการหายใจก็จะสะดวกขึ้น (การยกก้นให้สูงมากเกินไปจะทำให้เจ็บขา ดังนั้นจึงควรทดลองหาจุดที่เหมาะสมกับตนเอง) และการตั้งหลังให้ตรงยังช่วยสู้กับความเจ็บปวดในการนั่งได้ด้วย (นี่เป็นความลับของผู้เขียน)
- ความเคลื่อนไหวทางกายก็สามารถใช้เป็นอุปกรณ์การฝึกได้เช่นกัน ตัวอย่างที่นิยมกันคือการเดินจงกรม อาจจะเป็นการเดินง่าย ๆ ตามความสะดวกของท่านแล้วจับความเคลื่อนไหวที่ขา แต่การฝึกที่เป็นระบบจะให้ผลที่ดีกว่า โดยเฉพาะการฝึกตามแบบมหาสีสะยาดอ (สายยุบหนอ-พองหนอ) อย่างนี้อาจจะต้องหาผู้รู้แนะนำบ้าง สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมจะอยู่ได้นานกว่าการนั่งอย่างเดียว
- การเรียกชื่อประสบการณ์ ทางเทคนิคเรียกว่า การกำหนด จะช่วยให้จิตมีสมาธิได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อหายใจเข้า ให้ดูที่ลมเข้าแล้วบอกในใจว่า “เข้า(หนอ)” และเมื่อหายใจออกก็ทำอย่างเดียวกัน “ออก(หนอ)” ในระบบมหาสี(สะยาดอ) เขาให้จับความรู้สึกที่ท้อง เมื่อหายใจเข้าให้บอกในใจว่า “พองหนอ” เมื่อหายใจออกให้บอกว่า “ยุบหนอ” อย่างนี้สติจะมีกำลังและจะจับอยู่กับจุดที่ตั้งไว้ไม่วอกแวกไปทางอื่น แต่ต้องระวังให้คำเรียกตรงกับสภาวะจริง (เมื่อ “พองหนอ” ก็ต้องพองจริงเป็นต้น) มิฉะนั้นจะเป็นการเพียงใช้คำบริกรรมเปล่า ๆ ไม่เกี่ยวกับสภาวะ (เหมือนเราท่อง “พุท-โธ” ซึ่งก็ได้เหมือนกัน แต่เราจะไม่ได้ประโยชน์จากการเรียกชื่อ) ผู้ที่ต้องการรายละเอียดให้เข้าคอร์สอบรมในระบบยุบหนอ-พองหนออย่างน้อย 7 วัน (ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกนั่งให้ได้ 1 ชั่วโมงก่อน)
- ความคิดเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เราไม่สามารถจะควบคุมอะไรได้ ทำได้อย่างมากเพียงเฝ้าดูเท่านั้น อย่ารำคาญกับความคิดเพราะมันไม่มีประโยชน์ ให้ดูไปเรื่อย ๆ เราจะรู้ทันมันมากขึ้น บางครั้งเมื่อความคิดเกิดขึ้นเราจะรู้ว่ามันเกิดจากประสบการณ์บางอย่างก่อนหน้านั้น (เช่นเมื่อได้ยินเสียงบางอย่างความคิดบางอย่างจะตามมาเป็นต้น) เมื่อเรามีความคุ้นเคยกับการเกิดขึ้นและดับไปของความคิดมากพอ ความคิดจะเกิดน้อยลงและจะไม่รบกวน
- ความเจ็บปวดเป็นอีกประสบการณ์ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเจอ อย่าพยายามหลีกเลี่ยงเพราะไม่มีทางจะทำได้ ความเจ็บปวดมักจากเกิดการการนั่งที่มากกว่า 30–40 นาที เราทำได้แค่นั่งดูมันไปเรื่อย ๆ ความเจ็บปวดในการนั่งสมาธิไม่เป็นอันตราย ฉะนั้นไม่ว่าจะเจ็บปวดเพียงไหนอย่าเลิกกลางคัน อันนี้สำคัญมาก เมื่อผู้ปฏิบัติคุ้นเคยกับความเจ็บปวดมากพอจะสามารถแยกความปวดออกจากผู้รู้ คือเรารู้ความปวดอยู่แต่ก็รู้สึกสบายดีไม่ทุรนทุราย ถ้าท่านเลิกกลางคันประสบการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น และก็ไม่ควรจะคาดหวังว่าอะไรอย่างนี้จะเกิดขึ้นด้วย เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือนั่งดูไปเรื่อย ๆ
- ความรู้สึกปิติซาบซ่านก็เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่จะเกิดขึ้น แต่อาจจะไม่บ่อยเท่าประสบการณ์อย่างอื่น ปิติมักจะเกิดจากการนั่ง 1 ชั่วโมงที่มีการจดจ่อสม่ำเสมอ และบ่อยครั้งที่มักจะเกิดขณะเดินจงกรม (หลังการนั่งมาแล้ว) อย่าให้ค่าปิติมากเกินไป มันเป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ปิติก็เป็นตัววัดความก้าวหน้าที่ดีตัวหนึ่ง
- ผู้ปฏิบัติอาจจะเข้าคอร์สอบรมปีละครั้ง เพราะในบรรยากาศการฝึกอบรมจะช่วยให้เราพัฒนาได้ดีขึ้น และยังได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากครูสมาธิรวมทั้งได้เพื่อนใหม่ ๆ ด้วย
- ระวังคำแนะนำจากครูสมาธิ คำแนะนำจากคนอื่นอาจจะมาในรูปแบบแตกต่างกันมากมาย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน และอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้เขียนแนะนำในที่นี้ด้วยก็ได้ เกณฑ์ตัดสินอันหนึ่งที่ผู้เขียนใช้คือ ถ้าคำแนะนำใดพาเราให้ติดยึดอยู่กับความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นวิธีอย่างนี้ ๆ เท่านั้นที่ถูกต้องเพราะทุกคนที่ทำจะเห็นเหมือนกันหมด) คำแนะนำนั้นมักจะทำอันตรายต่อการปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าครูสมาธิคนใดบอกว่าสามารถใช้อำนาจพิเศษช่วยให้ท่านปฏิบัติได้ง่ายขึ้นหรือช่วยบอกความก้าวหน้าทางจิตใจของท่านได้ ให้วิ่งหนีโดยเร็ว การปฏิบัติที่แท้จะต้องทำด้วยตนเองและผลที่ถูกต้องจะทำให้ขยะคือความเชื่อที่ไร้เหตุผลต่าง ๆ รวมทั้งการติดยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งลดลงไม่ใช่มากขึ้น
- ระวังการปฏิบัติในระบบมหาสี(สะยาดอ) หรือที่เรียกในบ้านเราว่าแบบยุบหนอ-พองหนอ การฝึกในระบบนี้ถือว่าเป็นแนวมาตรฐานที่คณะสงฆ์ใช้ มักจะพบได้ทั่วไป มีการสนับสนุนและการจัดการที่ดี และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติ ผู้เข้าปฏิบัติจะถูกสอบอารมณ์ทุกวัน เพื่อกันไม่ให้ไปผิดทาง ในการสอบอารมณ์มักจะถามว่าได้รู้สึกหรือได้เห็นอะไร (แปลก ๆ) บ้าง ในบางครั้งผู้เขียนพบว่าการถามแบบนี้เป็นการชี้นำทำให้ผู้ปฏิบัติคิดว่าเวลาปฏิบัติจะต้องเห็นหรือรู้สึกอะไรสักอย่าง (ถ้าไม่เห็นถือว่าล้มเหลว) นี่อาจจะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติสร้างสิ่งที่เห็นขึ้นด้วยตัวเอง (เพราะกลัวจะล้มเหลวหรือเสียหน้า) อีกอย่างหนึ่งในสำนักปฏิบัติหลาย ๆ แห่งความพยายามที่จะสร้างความเชื่อให้ผู้ปฏิบัติยึดถือมีอยู่เป็นปกติ โดยเฉพาะตอนให้คำแนะนำและการเทศนาประจำวัน อันนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสัญญาณอันตราย อย่างไรก็ตามการปฏิบัติวิปัสสนาในระบบมหาสีก็สอนสิ่งต่าง ๆ ที่ควรรู้มากมายและเป็นที่นิยมกันทั่วโลก ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรหาโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติแนวนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต (ด้วยความระมัดระวัง)
สรุป
จากหลักการสำคัญ 3 ข้อและข้อแนะนำอื่น ๆ ที่กล่าวมาน่าจะพอเป็นแนวทางที่ผู้ปฏิบัติสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง บางคนกังวลว่าจะต้องมีครูบาอาจารย์หรือไม่ ถ้าท่านเข้าใจว่าอะไรสำคัญท่านจะรู้ว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักถ้าท่านไม่เริ่มด้วยตัวเองก่อน ไม่มีใครจะแนะนำท่านได้ถ้าท่านไม่ควบคุมตัวเองก่อน แต่คำแนะนำที่มีประโยชน์ก็เกิดขึ้นได้จากผู้ที่เข้าใจการปฏิบัติของท่าน ครูบาอาจารย์จึงเป็นเหมือนดาบสองคม ที่อาจจะชี้ทางสว่างหรืออาจจะให้ท่านหลงติดอยู่ก็ได้ ฉะนั้นจึงควรเลือกครูบาอาจารย์ด้วยความระมัดระวัง
ถ้าผู้ปฏิบัติเข้าใจในหลักการ เข้าใจว่าอะไรสำคัญ อะไรเป็นเพียงส่วนประกอบ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดอยู่กับการปฏิบัติแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ทุกระบบการปฏิบัติล้วนมีข้อดีและข้อควรระวังทั้งสิ้น ขอให้ใช้แนวทางที่ได้แนะนำมาเป็นเครื่องตรวจสอบ และขอให้มั่นใจว่าหลัก 3 ประการนี้คือหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและได้ผลจริง เพราะท่านไม่ต้องเชื่อในสิ่งใดเลย (แม้แต่พุทธศาสนาเอง) ทั้งหมดที่ท่านประสบเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับตัวท่านเอง และอย่าพยายามไปหาคำอธิบายในคัมภีร์ เพราะความจริงคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่การตีความด้วยตัวหนังสือ (ซึ่งอาจจะมีตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง แล้วแต่จะตีไปทางใด)
เชิงอรรถ
-
มีหลายคนที่ตั้งเป้าของการปฏิบัติว่า “ไม่อยากเกิดอีกแล้ว” อย่างนี้เป็นจินตนาการล้วน ๆ เป็นการคิดเดาเอาเองตามที่ได้ยินได้ฟังมา ความจริงเขาไม่เข้าใจในการปฏิบัติรวมทั้งผลที่ได้จากการปฏิบัตินั้น ๆ ในทำนองเดียวกับผู้ที่หวังว่า “อยากไปนิพพาน” ↩