Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

เข้าใจสัพพัญญูให้ถูกต้อง

สารบัญ

หลังจากที่ผู้ศึกษารู้จักการคิดอย่างมีเหตุผลแล้ว ก่อนที่จะศึกษาเนื้อหาต่าง ๆ ของพุทธศาสนาต่อไป ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกคือเรื่องสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า เรื่องนี้สำคัญเพราะเป็นฐานของทั้งระบบ ถ้าเราจับเรื่องนี้ไม่ดีหรือไม่ชัดเจนพอ เราไม่มีทางที่จะเข้าใจพุทธศาสนาด้วยตัวเองได้เลย นอกจากรับความเชื่อที่ถือปฏิบัติมาอย่างไร้เหตุผล

พระพุทธเจ้าในคัมภีร์ต้องรู้ทุกเรื่อง

ลักษณะร่วมสำคัญของศาสดาเอกของโลกคือจะต้องเป็นผู้รู้ คือรู้ในสิ่งที่คนธรรมดาไม่รู้ อาจจะรู้เองหรือได้รับการถ่ายทอดจากคนที่รู้มากกว่า (อย่างกรณีวิวรณ์จากพระเจ้า) พุทธศาสนาและศาสนาส่วนใหญ่ในอินเดียเชื่อว่าผู้รู้ที่สมบูรณ์ในระดับศาสดามีความรู้ไม่จำกัด เทียบได้กับพระเจ้าในศาสนาตระกูลยูดาย-คริสต์-อิสลาม

รากฐานสำคัญของพระไตรปิฎกตลอดจนคัมภีร์ต่าง ๆ คือความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้านั้นต้องรู้ทุกเรื่อง เราเรียกว่าสัพพัญญูพระพุทธเจ้า เรื่องนี้อธิบายในเชิงสังคมวิทยาได้ว่า การก่อตั้งศาสนาใด ๆ ผู้ประกาศจะต้องสามารถอธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้ และผู้คนจะต้องเชื่อว่าศาสดานั้นรู้จริงและบอกความจริงที่พวกตนไม่รู้ได้ Max Weber เรียกศาสดาประเภทนี้ว่า charismatic leader

ในระยะแรกของการก่อตั้ง ศาสดาอาจจะไม่ได้เป็นผู้รู้สมบูรณ์ ต่อเมื่อศาสนาเติบโตเป็นสถาบันความจำเป็นที่จะต้องยกระดับศาสดาก็เกิดขึ้นเพื่อรักษาและขยายฐานศาสานิก จนเมื่อศาสดาสิ้นชีวิตลง ไม่มีใครที่จะควบคุมคำสอน ระดับความรู้ของศาสดาจะใกล้เคียงกับพระเจ้า คือเป็นผู้รู้สมบูรณ์ในสายตาของศาสนิก

ต่อเมื่อคำสอนของศาสดาถูกรวบรวมและบันทึกไว้เป็นคัมภีร์ศาสนา ในคัมภีร์จะต้องระบุชัดเจนว่าศาสดาเป็นผู้รู้สมบูรณ์ เพื่อเป็นฐานความจริงของคัมภีร์ต่อไป การโต้แย้งประเด็นความจริงในคัมภีร์ก็จะไม่เกิดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พบได้ในศาสนาส่วนใหญ่

ในสมัยก่อนคนไม่กล้าตั้งคำถามกับเรื่องนี้เพราะนั่นอาจจะหมายถึงชีวิต ต่อเมื่ออำนาจของศาสนาลดลง การชี้ให้เห็นว่านี่เป็นการใช้เหตุผลที่ผิดพลาดก็เกิดขึ้น ข้อผิดพลาดที่ว่าเรียกว่าการทวนคำถาม มีรูปแบบตามตัวอย่างดังนี้

ความจริงที่พระเจ้าเปิดเผยได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เรารู้ว่าพระเจ้ามีจริงเพราะคัมภีร์กล่าวไว้เช่นนั้น

ในทำนองเดียวกัน

พระไตรปิฎกเป็นบันทึกความจริงที่มาจากสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า เรารู้ว่าพระพุทธเจ้านั้นรู้ทุกเรื่อง เพราะพระไตรปิฎกบันทึกไว้เช่นนั้น

หลักฐานในคัมภีร์ที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้สมบูรณ์ มีในปฏิสัมภิทามรรคดังนี้

Katamaṃ tathāgatassa sabbaññutaññāṇaṃ? Sabbaṃ saṅkhatamasaṅkhataṃ anavasesaṃ jānātīti – sabbaññutaññāṇaṃ. Tattha āvaraṇaṃ natthīti – anāvaraṇañāṇaṃ. (Paṭi 1.119)

Atītaṃ sabbaṃ jānātīti – sabbaññutaññāṇaṃ. Tattha āvaraṇaṃ natthīti – anāvaraṇañāṇaṃ. Anāgataṃ sabbaṃ jānātīti – sabbaññutaññāṇaṃ. Tattha āvaraṇaṃ natthīti – anāvaraṇañāṇaṃ. Paccuppannaṃ sabbaṃ jānātīti – sabbaññutaññāṇaṃ. Tattha āvaraṇaṃ natthīti – anāvaraṇañāṇaṃ. (Paṭi 1.120)

Na tassa addiṭṭhamidhatthi kiñci, atho aviññātamajānitabbaṃ. Sabbaṃ abhiññāsi yadatthi neyyaṃ, tathāgato tena samantacakkhu. (Paṭi 1.121)

What [is] the Thus Gone’s all-knowing knowledge? [That he] knows all conditioned and unconditioned [things], thus [is] all-knowing knowledge. In that [knowledge] obstruction does not exist, thus [is] unobstructed knowledge.

[That he] knows all the past, thus [is] all-knowing knowledge. In that [knowledge] obstruction does not exist, thus [is] unobstructed knowledge. [That he] knows all the future, thus [is] all-knowing knowledge. … [That he] knows all the present, thus [is] all-knowing knowledge. …

Any unknown [thing] in this [world] for him does not exist, also what should be known but unknown [to him]. Which [knowledge] should be guided, the Thus Gone knew all [that knowledge] with his all-seeing eyes. (my translation)

สัพพัญญุตญาณของพระตถาคต เป็นอย่างไร คือ ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงไม่มีอะไรเหลือ ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะไม่มีเครื่องกั้นในญาณนั้น

ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมส่วนอนาคตทั้งปวง ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะไม่มีเครื่องกั้นในญาณนั้น ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมส่วนอดีตทั้งปวง ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะไม่มีเครื่องกั้นในญาณนั้น ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้ธรรมส่วนปัจจุบันทั้งปวง ชื่อว่าอนาวรณญาณ เพราะไม่มีเครื่องกั้นในญาณนั้น

สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้ พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่ทรงเห็น ไม่มีเลย อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้ พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่ พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่ามีพระสมันตจักขุ (ฉบับมจร.)

นอกจากรู้ธรรมในส่วนอดีต อนาคต และปัจจุบันแล้ว พระพุทธเจ้ายังรู้อะไรต่าง ๆ อีกมากมาย สรุปง่าย ๆ ได้ว่าไม่มีอะไรที่ไม่รู้ ข้อความที่ปรากฏในปฏิสัมภิทามรรคนี้ ถ้าอ่านให้ดีจะเห็นว่าเป็นเนื้อหาที่แต่งขึ้นภายหลังเพื่อยกย่องหรือเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของระบบ (ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่ออ่านฉบับแปลภาษาไทย เพราะบ่อยครั้งเราจะพบสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา ควรอ่านฉบับภาษาอังกฤษประกอบด้วยทุกครั้ง และถ้าเป็นไปได้ตรวจสอบในบาลีด้วยตัวเองจะดีที่สุด)

ถ้าพระพุทธเจ้ารู้อดีต อนาคต และปัจจุบันอย่างไม่มีจำกัด ความตอนนี้ในพระวินัยไม่ควรจะเกิดขึ้น

Sace, ānanda, nālabhissa mātugāmo tathāgatappavedite dhammavinaye agārasmā anagāriyaṃ pabbajjaṃ, ciraṭṭhitikaṃ, ānanda, brahmacariyaṃ abhavissa, vassasahassaṃ saddhammo tiṭṭheyya. Yato ca kho, ānanda, mātugāmo tathāgatappavedite dhammavinaye agārasmā anagāriyaṃ pabbajito, na dāni, ānanda, brahmacariyaṃ ciraṭṭhitikaṃ bhavissati. Pañceva dāni, ānanda, vassasatāni saddhammo ṭhassati. (Cv 10.403)

If, Ānanda, a woman had not obtained the going forth from home into homelessness in the Dhamma and Vinaya declared by the Thus Gone, Ānanda, the religion [brahmacariya] would have lasted long, the true Dhamma would have lasted for a thousand years. But since, Ānanda, a woman has gone forth from home to homelessness in the Dhamma and Vinaya declared by the Thus Gone, now, Ānanda, the religion will not last long. Now, only five hundred years, Ānanda, the true Dhamma will last. (my translation)

อานนท์ ถ้ามาตุคามจะไม่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้นาน สัทธรรมจะดำรงอยู่ถึง 1,000 ปี แต่เพราะมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว บัดนี้พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง 500 ปีเท่านั้น (ฉบับมจร.)

ถ้าเราถือคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง สิ่งที่เราเรียกว่าพุทธศาสนาในตอนนี้ไม่ได้เป็นของแท้ฉบับดั้งเดิม ถ้าเราแปลสัทธรรมว่า the true doctrine ของที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็คือของปลอม พระอรรถกถาจารย์น่าจะปวดหัวกับความตอนนี้พอสมควร จึงอธิบายเพิ่มเข้าไปว่าศาสนาจะดำรงอยู่ตลอด 5,000 ปี โดยจะมีระยะเสื่อมทุก ๆ 1,000 ปี ทฤษฎีห้าพันปีนี้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นอาจจะทำให้คำสอนต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือลดลง

พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ทุกเรื่อง

ถ้าเราดูจากหลักฐานในส่วนอื่นประกอบจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวยกตัวเองขนาดนั้น ดังที่ปรากฏในจูฬวัจฉโคตตสูตร มัชฌิมนิกายดังนี้

Ye te, vaccha, evamāhaṃsu – “samaṇo gotamo sabbaññū sabbadassāvī, aparisesaṃ ñāṇadassanaṃ paṭijānāti, carato ca me tiṭṭhato ca suttassa ca jāgarassa ca satataṃ samitaṃ ñāṇadassanaṃ paccupaṭṭhitan”ti, na me te vuttavādino, abbhācikkhanti ca pana maṃ asatā abhūtena. (Maj 2.3.185, MN 71)

Which those [people], Vaccha, said thus, “Ascetic Gotama, all-knowing, all-seeing, acknowledges the perfect knowledge, without remainder. When I walk or stand or sleep or awake, the perfect knowledge is always present continuously.” Those [people] who said so do not [say] mine [= do not say what I said]. [They] also accuse me with non-existent falsehood. (my translation)

วัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู” มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า “เมื่อเราเดินอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะจะปรากฏต่อเนื่องตลอดไป” ยังกล่าวไม่ตรงกับคำที่เรากล่าวแล้ว และชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่เป็นจริง ไม่มีจริง (ฉบับมจร.)

ความที่ยกมาแสดงชัดเจนว่าพระพุทธเจ้ายอมรับด้วยตัวเองว่าไม่ได้รู้ทุกอย่างตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เพียงแต่ไม่ได้รู้ตลอดเวลา และในสูตรเดียวกันสรุปไว้ว่า

“Tevijjo samaṇo gotamo”ti kho, vaccha, byākaramāno vuttavādī ceva me assa, na ca maṃ abhūtena abbhācikkheyya, dhammassa cānudhammaṃ byākareyya, na ca koci sahadhammiko vādānuvādo gārayhaṃ ṭhānaṃ āgaccheyya. (Maj 2.3.186, MN 71)

“Ascetic Gotama [who knows] threefold knowledge,” thus, Vaccha, explaining, those who said so [say] mine. [They] also will not accuse me with falsehood, will explain according to the teaching. And any co-religionist, who repeats [that explanation], will not come to contemptible position. (my translation)

วัจฉะ บุคคลผู้อธิบายว่า “พระสมณโคดมเป็นผู้มีวิชชาสาม” ชื่อว่าเป็นผู้พูดตรง ตามที่เรากล่าวไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ และชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล อนึ่ง ไม่มีเลยที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมา จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ (ฉบับมจร.)

จากความตอนนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้ายอมรับเพียงวิชชาสามเท่านั้น กล่าวคือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติได้) จุตูปปาตญาณ (เห็นการเกิดตายของสัตว์ทั้งหลาย) และอาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ) นั่นคือการบอกว่าพระพุทธเจ้ารู้ทุกอย่างไม่มีจำกัดเป็นการกล่าวไม่ตรงกับความจริง

จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ยกมาทำให้ศาสตราจารย์ชยติลเลเกสรุปความเรื่องนี้ไว้ดังนี้

[N]either did the Buddha claim omniscience nor was omniscience claimed of the Buddha until the very latest stratum in the Pāli Canon and that is even after most of the books of the Abhidhamma had been completed.1

พระพุทธเจ้าไม่ได้อ้างว่าตนเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง และความเป็นผู้รู้ทุกสิ่งไม่ได้ถูกอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งพระไตรปิฎกชั้นล่าสุดที่เพิ่มเข้าไป หลังจากคัมภีร์พระอภิธรรมส่วนใหญ่ถูกเขียนเสร็จด้วยซ้ำไป

ข้อสังเกตของศาสตราจารย์ชยติลเลเกดูมีเหตุผลตามหลักฐานที่เราเห็น เพราะปฏิสัมภิทามรรคเป็นเนื้อหาที่ใหม่กว่าส่วนอื่นของพระไตรปิฎกและมีความเชื่อมโยงกับพระอภิธรรม (โดยรูปแบบและเนิ้อหาการนำเสนอ) อย่างที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้น แม้ศาสดาจะไม่ได้รู้ทุกเรื่องในระยะเริ่มต้นของการก่อตั้ง ต่อเมื่อศาสนากลายเป็นสถาบันความจำเป็นที่ต้องมีศาสดาที่รู้ทุกเรื่องก็เกิดขึ้น

เป็นไปไม่ได้ที่คนจะรู้ทุกเรื่อง

มาถึงตอนนี้ถ้าเราตรงไปตรงมากับหลักฐานที่มี การเชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ทุกเรื่องนั้นมีเหตุผล เราอาจจะมองว่าท่านเป็นนักปราชญ์แต่ก็เป็นมนุษย์มิใช่พระเจ้า พระพุทธเจ้าอาจจะรู้มาก มีความเฉลียวฉลาด แต่ก็มีขอบเขต คือรู้พอที่จะทำให้ตัวเองพ้นทุกข์และสอนคนอื่นได้ ส่วนความรู้อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอาจจะมีผิดพลาดได้ ตัวอย่างที่ยกมาบ่อยคือ ระบบโลกและจักรวาลที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนั้นไม่มีส่วนใดเลยที่ตรงกับความเป็นจริง

การมองอย่างนี้มีเหตุผลและจะเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อคัมภีร์ทางศาสนาอย่างสิ้นเชิง คือเราจะติดคัมภีร์น้อยลงและใช้เหตุผลมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่การสอนตามระบบจารีตยังล้าหลังอยู่มาก การสอนให้คนสงสัยในคัมภีร์ดูจะขัดต่อหลักการบริหารศาสนาที่ดี แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ฉลาดในการใช้เหตุผลมากขึ้น ๆ ความเคลือบแคลงต่อระบบก็จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ถ้าสถาบันศาสนาเองไม่ปรับตัวในเรื่องนี้ คนก็จะเชื่อศาสนาน้อยลงเพราะความไร้เหตุผลในตัวระบบเอง

การยอมรับว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ทุกอย่างมีความสำคัญต่อชาวพุทธรุ่นใหม่ เพราะเราสามารถใช้เหตุผลของตัวเองตัดสินและเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรเชื่อและนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับโลกในปัจจุบัน ไม่ต้องเชื่อตามผู้บันทึกคัมภีร์ (สังคีติกาจารย์) และผู้อธิบายคัมภีร์ (อรรถกถาจารย์) ทุกอย่างไป นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้เหตุผลในการอ่านพระไตรปิฎก รวมทั้งการคิดในเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล

ถ้าเราคิดให้ดี ๆ จะพบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราจะรู้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเขาจะมีญาณทัศนะกล้างไกลขนาดไหน ลองคิดตามดังต่อไปนี้

ที่ว่ารู้ทุกอย่างในปัจจุบันนั้นคืออย่างไร?

คิดอย่างง่าย ๆ แบบเด็ก ๆ การรู้ทุกอย่างในปัจจุบันคือรู้เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกที่ทุกสถาน หมายความว่าเราจะรู้ว่าอีกส่วนหนึ่งของโลกมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปดูด้วยตนเอง เหมือนกับว่าเรามีระบบดาวเทียมของตัวเองกระจายอยู่ทั่วและเราสามารถดึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาแสดงได้ดังใจ อย่างนี้น่าจะพอเรียกได้ว่ารู้ทุกอย่างในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้นเราควรจะรู้ด้วยว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ไปจนถึงดาวต่าง ๆ ในกาแล็กซีอันห่างไกล นี่อาจจะไม่ใช้ภาพที่ผู้บันทึกและอธิบายคัมภีร์จะคิดได้ (รวมถึงพระพุทธเจ้าเอง) ถ้าเราคิดถึงความโค้งของอวกาศและกาลตามหลักทฤษฎีสัมพันธภาพเข้าไปด้วย การรู้ทุกอย่างในปัจจุบันดูจะซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก

สรุปง่าย ๆ ไม่มีใครจะรู้ทุกอย่างในปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะมีญาณวิเศษเพียงใด ถ้าพระพุทธเจ้ารู้เรื่องนี้จริงเราจะได้ภาพภูมิประเทศของโลกและระบบจักรวาลในคัมภีร์ที่ดีกว่านี้

ที่ว่ารู้ทุกอย่างในอดีตนั้นคืออย่างไร?

อดีตคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีการบันทึกไว้เป็นภาพอย่างที่เราทำกันทุกวันนี้ การจะรู้ว่าอดีตนั้นมีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ สมมติว่าเรามีญาณวิเศษบางอย่างที่เห็นภาพในอดีตได้ ปัญหาคือภาพเหล่านั้นเก็บอยู่ที่ใด อดีตไม่ใช่ปัจจุบันที่จะมีวัตถุทางกายภาพให้เห็น จะว่าไปความทรงจำในอดีตเป็นสิ่งที่จิตสร้างขึ้นทั้งสิ้น ภาพจริง ๆ ในอดีตไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไปแล้ว

สมมุติกันแบบเด็ก ๆ ถ้าเรามีจิตที่มีความไวมากกว่าแสง และเราสามารถส่งจิตไปออกไปเห็นภาพอดีตที่สะท้อนออกไปจากโลก อย่างนี้ยังพอจะมีโอกาสเห็นภาพจริงได้ แต่นี่เป็นเพียงจินตนาการของเด็ก เพราะจิตไม่ได้ไปไหนและไปไหนไม่ได้ถ้าไม่มีร่างกาย ที่ว่าจิตไวกว่าแสงนั้นเป็นเพียงอุปมาว่าความคิดเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงเร็ว (ด้วยอัตราจริงช้ากว่าแสงมากมายนัก) และที่สำคัญตาเป็นอวัยวะที่รับแสงสะท้อนไม่ใช่จิต

สรุปได้ว่า ไม่ว่าอย่างไรการรู้ทุกอย่างในอดีตนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าพระพุทธเจ้ารู้จริงเราจะได้ภาพประวัติศาสตร์ของโลกที่สมจริงกว่านี้ในคัมภีร์ ไม่ใช่ในอดีตมีเมืองหลวงเมืองเดียวชื่อว่าพาราณสีและมีราชาชื่อพระเจ้าพรหมทัตเหมือนกันหมด

ที่ว่ารู้ทุกอย่างในอนาคตนั้นคืออย่างไร?

ข้อนี้ง่ายกว่าในการพิจารณาเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นจึงไม่มีภาพอะไรให้เห็น การรู้อนาคตโดยตรงนั้นเป็นไม่ได้ นอกจากจะใช้การคาดคะเนหรือคำนวนเอา เหมือนที่เราพยายามทำกันอยู่ในศาสตร์ต่าง ๆ ทุกวันนี้เช่นเศรษฐศาสตร์หรืออุตุนิยมวิทยาเป็นต้น

หลายคนอาจจะแย้งว่าพระพุทธเจ้ามีอนาคตังสญาณที่รู้อนาคตได้เพราะรู้ทุกเหตุทุกปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอันจะนำไปสู่ผลที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่เป็นความเข้าใจผิดเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (รวมถึงเข้าใจหลักพุทธธรรมผิดด้วย) ในวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีหนึ่งเรียกว่าทฤษฎีไร้ระเบียบ (chaos theory) เป็นการศึกษาความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างซับซ้อน การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในส่วนหนึ่งทำให้ระบบเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสิ้นเชิง (หรือที่มักเรียกกันว่า butterfly effect) และผลลัพท์สุดท้ายไม่อาจจะคำนวณได้แน่นอน เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ทฤษฎีไร้ระเบียบน่าจะอธิบายเรื่องกรรมได้ส่วนหนึ่ง คือนอกจากมีกรรมเก่าที่ทำมาแล้วเราทุกคนก็ทำกรรมใหม่ตลอดเวลา และทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันเป็นระบบที่ซับซ้อน การที่เราทำกรรมใหม่ตลอดเวลายันยืนได้ว่าอนาคตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ หรืออีกนัยหนึ่งอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้ได้แน่นอน

การรู้ทุกอย่างคือรู้กฎธรรมชาติ?

หลายคนอาจจะเห็นว่าการรู้ทุกอย่างของพระพุทธเจ้าคือการรู้กฎทางธรรมชาติ อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี ถ้าเราแยกกฎทางธรรมชาติออกเป็นสองส่วนคือ กฎทางรูปธรรม (เช่นกฎทางฟิสิกส์เป็นต้น) และกฎทางนามธรรม (เช่นพฤติกรรมทางจิตเป็นต้น) ความรู้ของพระพุทธเจ้าไม่น่าจะหมายถึงส่วนแรก

กฎทางพิสิกส์ต่าง ๆ มาจากไหน? เนื่องจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางธรรมชาติมีความสม่ำเสมอเป็นลักษณะ คนที่สังเกตเห็นรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วพยายามหาสูตรมาอธิบายได้ จนสูตรดังกล่าวมีความเที่ยงตรง จนพิสูจน์ทดลองได้อย่างไม่ผันแปร เป็นกฎทางกายภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างที่ยกกันทั่วไป คือ กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน และทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎทางกายภาพไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในธรรมชาติ แต่เกิดจากความสามารถตีความความสม่ำเสมอในธรรมชาติของมนุษย์ แปลว่าไม่มีกฎใดที่สมบูรณ์แบบและกฎทางวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น (อย่างของไอน์สไตน์จะละเอียดและถูกต้องกว่าของนิวตันเป็นต้น)

สิ่งที่สรุปได้ตรงนี้คือพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ คือท่านไม่รู้เรื่องกฎพวกนี้ อย่างมากพระพุทธเจ้าก็รู้เท่าที่นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นรู้ บางคนอาจจะคิดว่าท่านอาจจะมีญาณวิเศษที่สามารถเจาะระบบ cosmic cloud storage และสามารถดึงเอาความรู้ต่าง ๆ ออกมา เหมือนเราค้นหาเรื่องต่าง ๆ ใน Wikipedia อันนี้เป็นจินตนาการของคนเขียนนิยายวิทยาศาสตร์

ที่น่าเป็นไปได้ที่สุดคือความรู้เรื่องนามธรรม เพราะพระพุทธเจ้ามีโจทย์ที่ชัดเจนคือทำอย่างไรจะดับทุกข์ได้ ท่านได้คิดและทดลองปฏิบัติด้วยตนเองจนได้คำตอบในที่สุด นั่นคือภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้ามีเพียงเรื่องเดียวที่เรายอมรับได้ว่าเป็นความรู้ คือท่านรอบรู้เรื่องวิธีดับทุกข์ อย่างนี้จึงเรียกว่าเราเข้าใจสัพพัญญูของพระพุทธเจ้าถูกต้อง

สรุป

ถ้าเราจับส่วนที่เป็นแก่นเป็นสาระไว้โอกาสที่จะผิดพลาดก็น้อย สิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้จริงและตั้งใจเอามาสอนคือเทคโนโลยีการดับทุกข์ แต่ด้วยความเป็นสถาบันของศาสนา เรื่องต่าง ๆ ที่ต้องสอนต้องเรียนจึงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเรียนกันทั้งหมดไม่ไหว ผู้ศึกษาจึงไปสนใจและใช้เวลาเสียไปกับส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญจนละทิ้งการปฏิบัติ

ขอสรุปตรงนี้ว่าพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง บางเรื่องที่รู้ก็ผิด (ผิดตามมาตรฐานปัจจุบัน แต่อาจจะถูกตามสมัยนิยมขณะนั้น) บางเรื่องที่สอนก็ใช้ไม่ได้กับคนบางคน และบางครั้งก็ตัดสินใจผิดพลาด ความพยายามที่จะนำเสนอว่าพระพุทธเจ้ามีความรู้สมบูรณ์แบบพระเจ้าเป็นการบิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์อื่น อาจจะเพื่อความมั่นคงของสถาบันเอง หรือเพื่อครอบงำความคิดของผู้คนให้หลงงมงายเพื่อสะดวกในการควบคุมและแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านวัตถุ (สังเกตได้จากวัดที่ส่งเสริมความเชื่อเรื่องนี้กับสถานะทางการเงินของวัดนั้น วัดที่ส่งเสริมความพิเศษของเกจิอาจารย์เพื่อผลประโยชน์ก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน)

ผลที่ตามมาของการสรุปอย่างนี้มีความสำคัญ เมื่อเรายอมรับว่าพระพุทธเจ้ามีความรู้จำกัด สิ่งที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่ความจริงสุดท้ายที่โต้แย้งไม่ได้ แม้จะออกจากปากพระพุทธเจ้าเอง การอ่านพระไตรปิฎกจึงต้องทำด้วยความเข้าใจและเลือกเฟ้นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ศึกษาเอง พระไตรปิฎกไม่ได้มีไว้เพื่อเชื่อทุกอย่างตามนั้นดังที่สำนักต่าง ๆ ตามจารีตนิยมพยายามทำอยู่ เราต้องศึกษาให้เข้าใจมีเหตุมีผลและเลือกเฉพาะสิ่งที่นำมาใช้ได้จริง ๆ การตีความที่เหมาะสมกับยุคสมัยและการโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์มีเหตุมีผลจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรามั่นใจได้อย่างหนึ่ง คือ เรื่องดับทุกข์นั้นพระพุทธเจ้ารู้แน่ ๆ2 โดยมีหลักการปฏิบัติที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้ถือว่าเป็นเพียงส่วนตกแต่ง แม้แต่การจับเรื่องศีลสมาธิปัญญาแบบยุ่งยากเป็นระบบรุ่งรังก็เป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ เป็นเพียงการปลดปล่อยทางปัญญาของผู้ศึกษาเท่านั้น สิ่งที่ควรจะรู้จริง ๆ เพื่อการดับทุกข์จะต้องไม่มาก การปฏิบัติจริงจะต้องไม่ยากและทำได้โดยคนทั่วไป มิฉะนั้นแล้วพุทธธรรมจะเป็นหมัน เป็นเพียงมวลความรู้ก้อนใหญ่ใช้แบกโก้ไว้เท่านั้น

เชิงอรรถ

  1. K. N. Jayatilleke, 1963, Early Buddhist Theory of Knowledge, George Allen & Unwin, p. 381. 

  2. คำกล่าวนี้โต้แย้งไม่ได้เพราะสาระสำคัญที่สุดของพุทธศาสนาคือความดับทุกข์ของบุคคล ไม่ใช่ความสงบสุขของสังคม (ที่เป็นผลพลอยได้) หรือการมีประสบการณ์ทางใจที่วิจิตรพิสดาร หรือความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติต่าง ๆ พระพุทธเจ้าใดที่ไม่ได้สอนเรื่องดับทุกข์ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในนิยามของพุทธศาสนา และวิธีดับทุกข์ที่ได้วางไว้มีความชัดเจนและเรียบง่าย ทำได้เองโดยไม่ต้องพึงพาอำนาจอื่นนอกตัว