ประโยคนามโดด
ประโยคคือหน่วยที่เล็กที่สุดของภาษาที่ใช้สื่อสารได้อย่างมีความหมาย1 อย่างน้อยประโยคต้องประกอบด้วยประธานกับกริยา (Subject-Verb) เช่น ฉันวิ่ง (I run) หรือประธาน กริยา และกรรม (Subject-Verb-Object) เช่น ฉันตีลูกบอล (I hit a ball) ลำดับของคำมีความสำคัญต่อประโยคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เมื่อลำดับของคำเปลี่ยนไปความหมายของประโยคก็จะเปลี่ยนไป เช่น วิ่งฉัน ไม่มีความหมาย (แต่ run I พอใช้ได้) และ ลูกบอลตีฉัน มีความหมายต่างออกไป (a ball hit I ไม่มีความหมาย แต่ a ball hits me มีความหมายต่างออกไป)
จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าจุดที่ภาษาไทยต่างกับภาษาอังกฤษ คือ ภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนรูปคำตามหน้าที่แต่ภาษาอังกฤษมี เมื่อเปลี่ยน ฉันตีลูกบอล เป็น ลูกบอลตีฉัน ลูกบอลที่เป็นกรรมในประโยคแรกกลายเป็นประธานในประโยคหลังเพียงแค่สลับตำแหน่ง แต่ในภาษาอังกฤษลำดับของคำความจริงไม่ได้สำคัญไปกว่ารูปของคำ (ที่แสดงหน้าที่ของคำนั้น ๆ)
ดังนั้นการพูดว่า run I จึงมีความหมาย เพราะ I เป็นรูปของประธาน และ a ball hit I มีความหมายเหมือน I hit a ball ส่วน a ball hits me มีความหมายตรงกันข้ามเพราะ me เป็นรูปของกรรม ส่วน hits เป็นกริยาของ ball ถ้าเราพิจารณารูปของคำให้ดี การพูดว่า me hits a ball ย่อมมีความหมายเหมือนกัน แต่เนื่องจากภาษาอังกฤษถือลำดับของคำด้วย การพูดว่า a ball hit I หรือ me hits a ball แม้จะมีความหมายตามหน้าที่ของคำที่แสดงไว้ แต่ก็ถือว่าผิดไวยากรณ์ ไม่เป็นที่นิยมใช้กัน
เมื่อเข้าใจภาษาอังกฤษอย่างนี้ การเรียนภาษาบาลีก็จะง่ายขึ้น เพราะบาลีเหมือนภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยในเรื่องการเปลี่ยนรูปของคำตามหน้าที่ และภาษาบาลีไม่ถือความสำคัญของลำดับ แต่ก็มีการวางตำแหน่งที่นิยมใช้กัน เช่น เวลาพูดว่า I hit a ball (S-V-O) ภาษาบาลีมักจะเรียงเป็น I a ball hit (S-O-V) จะมองว่าลำดับของคำในประโยคบาลีเป็นเรื่องของสไตล์มากกว่ากฎทางไวยากรณ์ก็ได้
คำ (ส่วนใหญ่) ในประโยคภาษาบาลีจะมีรูปเปลี่ยนไปตามหน้าที่ของคำนั้น
นี่คือเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องรู้ก่อนการเรียนแต่งประโยคภาษาบาลี กล่าวคือ คำที่ประกอบในประโยคภาษาบาลีจะต้องมีรูปตามหน้าที่ของคำนั้นจึงจะมีความหมาย2 ความยากอยู่ตรงนี้ ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปแบบของคำตามหน้าที่ไม่มากนัก เช่น การเติม -s เพื่อทำคำนามให้เป็นพหูพจน์ หรือทำคำกริยาให้เป็นเอกพจน์ปัจจุบัน การเติม -ed เพื่อทำกริยาให้เป็นอดีต การเติม -ing เพื่อทำกริยาให้เป็นนามหรือรูป progressive และการเปลี่ยน I เป็น me เพื่อทำประธานให้เป็นกรรม เป็นต้น ส่วนภาษาบาลีการเปลี่ยนรูปคำถือว่าเป็นเรื่องที่มีเนื้อหามาก และเวลาส่วนใหญ่ในการเรียนบาลีไวยากรณ์ก็ใช้ไปกับการท่องจำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้ ถึงแม้หลักสูตรที่กำลังนำเสนอนี้พยายามจะลดภาระของผู้เรียน แต่ก็ขอให้เข้าใจว่า นี่เป็นลักษณะสำคัญของภาษานี้ การจดจำส่วนที่จำเป็นเบื้องต้นยังคงมีความจำเป็น
คำนาม (noun)
คำนามคือคำที่ใช้แทนสิ่งมีชีวิต สิ่งของ สถานที่ และสภาวะทางนามธรรมต่าง ๆ คำนามมีมากที่สุดและเด็ก ๆ เริ่มการพูดด้วยการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ คำนามจึงเป็นกลุ่มคำที่ควรจะเรียนรู้ก่อน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คำภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนรูปตามหน้าที่ เราจึงไม่ควรจะเรียนด้วยภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปคำนาม แม้ไม่มากนักแต่ก็มีความใกล้เคียงภาษาบาลีมากกว่า กล่าวคือ คำนามภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปเพียง 2 อย่าง ได้แก่ รูปเอกพจน์ (singular ต่อไปจะย่อเป็น sg.) กับรูปพหูพจน์ (plural ย่อเป็น pl.) ตัวอย่างเช่น a pig (หมูตัวหนึ่ง) pigs (หมูหลายตัว) a goose (ห่านตัวหนึ่ง) geese (ห่านหลายตัว) a fish (ปลาตัวหนึ่ง) fish (ปลาหลายตัว) จะเห็นว่าวิธีการทำคำนามเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์มีกฎให้ต้องจำบ้าง รวมทั้งกรณีพิเศษต่าง ๆ คำนามในภาษาบาลีก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีรูปเอกพจน์กับพหูพจน์
ส่วนที่เพิ่มมาจากภาษาอังกฤษ (แต่คล้ายภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปน และภาษายุโรปอื่น ๆ) คือ คำนามจะมีเพศด้วย ในบาลีมี 3 เพศคือ ชาย (masculine) หญิง (feminine) และเป็นกลาง (neuter) ต่อไปจะใช้คำย่อเป็นหลัก ขอให้จำไว้ คือ m. f. และ nt. ตามลำดับ
ดังนั้นเมื่อพูดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในภาษาบาลี เราจะต้องรู้ด้วยว่าคำที่ใช้เรียกสิ่งนั้นเป็นเพศอะไร ส่วนใหญ่เพศจะเดาได้โดยความหมายของคำเอง เช่น dāraka (boy) dārikā (girl) เป็นต้น3 คำที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเพศมักจะเป็นกลาง เช่น kula (family) akkhi (eye) เป็นต้น บางคำมีใช้มากกว่าหนึ่งเพศ เช่น potthaka (book) เป็นทั้ง m. และ nt. ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจควรตรวจสอบกับพจนานุกรมทุกครั้ง
รูปคำต่าง ๆ ที่ยกเป็นตัวอย่างได้มาจากพจนานุกรม (อาจจะเรียกว่า dictionary form) คำเทคนิคเรียกว่า ศัพท์ (ดูคำอธิบายด้านล่าง) เป็นรูปดิบที่ยังไม่มีความหมาย คือ ยังบอกไม่ได้ว่า dāraka เป็นเด็กชายหนึ่งคนหรือหลายคน รูปศัพท์นี้จะต้องผ่านการแปรรูปก่อนจึงจะมีความหมาย
นอกจากพจน์กับเพศแล้วคำนามยังมีส่วนที่สำคัญที่สุด คือ หน้าที่ทางไวยากรณ์ ส่วนนี้มีเนื้อหามากและต้องทำความเข้าใจให้ดี มิฉะนั้นท่านจะไม่เข้าใจภาษาบาลีเลย หลักการคือ คำนามที่จะประกอบเป็นประโยคจะต้องมีรูปสอดคล้องกับหน้าที่ของคำนั้น อันนี้ไม่เหมือนภาษาอังกฤษแต่จะคล้ายกับภาษาอื่นที่เป็นลูกหลานของกรีกและละติน
กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ คำนามใดในประโยคที่มีความหมาย จะมีรูปที่สามารถชี้ได้ว่าคำนามนั้น เป็นเพศอะไร (อาจจะไม่ชัดเจน) เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ และทำหน้าที่อะไรทางไวยากรณ์
รูปของคำนามในประโยคจะแสดงให้รู้ว่าคำนั้น
- เป็นเพศอะไร (m. f. หรือ nt.)
- เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์
- ทำหน้าที่อะไร
ศัพท์กับบท
ก่อนที่จะเรียนการแปรรูปของคำนาม เราต้องรู้ความแตกต่างระหว่างศัพท์กับบทก่อน ศัพท์ มาจาก สทฺท (sadda) แปลว่าเสียง คือคำดิบก่อนที่จะแปรรูป โดยทั่วไปเราจะพบคำดิบเหล่านี้ในพจนานุกรม ที่ว่า “ดิบ” หมายความว่ายังไม่พร้อมจะใช้งาน นั่นคือคำนามที่ได้จากพจนานุกรมยังไม่มีความหมายที่จะสื่อสารได้ (จะเรียกว่าสักแต่ว่า “เสียง” ก็ได้) คำเหล่านี้จะต้องผ่านการแปรรูปเสียก่อนจึงจะมีความหมาย ทางเทคนิคเรียกว่า declension เมื่อแปรรูปแล้วคำนั้นจะสามารถนำไปประกอบประโยคได้ เราเรียกคำที่แปรรูปแล้วว่า บท (pada)
- ศัพท์ หรือ สทฺท คือคำดิบ ยังไม่มีความหมายจะสื่อสารได้
- บท คือคำที่แปรรูปแล้ว มีความหมาย สามารถประกอบเป็นประโยคได้
เมื่อจะใช้ศัพท์ใดเราจะต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับศัพท์นั้นก่อน คือรู้ว่าศัพท์นั้นเป็นเพศอะไรและมีอักษรท้ายคำ (ending หรือ การันต์) เป็นอะไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ศัพท์ | เพศ | อักษรท้าย | ความหมาย |
---|---|---|---|
dāraka | m. | a | boy |
dārikā | f. | ā | girl |
kula | nt. | a | family |
akkhi | nt. | i | eye |
โดยทั่วไปเราจะพบศัพท์ m. ลงท้ายด้วย a i ī u ū
(มีน้อยมากที่ลงท้ายด้วย ā) ศัพท์ f. จะลงท้ายด้วย ā i ī u ū
ส่วนศัพท์ nt. ส่วนมากจะลงท้ายด้วยสระสั้นคือ a i u
ข้อที่น่าสังเกตคือ ศัพท์จะไม่ลงท้ายด้วย e กับ o (นี่เป็นอักษรท้ายของบทบางประเภท) และการเห็นอักษรท้ายอย่างเดียวไม่อาจจะบอกเพศได้ถูกต้อง เช่น -a อาจจะเป็น m. หรือ nt. ก็ได้ หรือ -i อาจเป็นได้ทั้งสามเพศ กรณีที่พอจะมั่นใจได้คือ -ā มักจะเป็น f. แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดีแล้วจดจำไว้
ที่เราต้องให้ความสำคัญกับอักษรตัวท้าย เพราะรูปแบบของการแปรรูปคำขึ้นอยู่กับว่า คำนั้นเป็นเพศอะไรและมีอักษรท้ายเป็นอะไร และนี่เป็นภาระเริ่มต้นที่ผู้เริ่มศึกษาทุกคนจะต้องจดจำ ดังจะกล่าวต่อไป
Nominative case
หน้าที่ของคำนามที่ต้องรู้เป็นอันดับแรกคือ ประธานของประโยค ศัพท์ทางไวยากรณ์เรียกรูปแบบคำประเภทนี้ว่า nominative case ต่อไปเราจะย่อว่า nom. การทำคำนามให้เป็นประธานของประโยค มีหลักการทั่วไปดังนี้
-a/-ā | -i | -ī | -u | -ū | |
---|---|---|---|---|---|
m. sg. | i | ī | u | ū | |
m. pl. | ī | ū | |||
nt. sg. | aṃ | i | u | ||
nt. pl. | |||||
f. sg. | ā | i | ī | u | ū |
f. pl. | ā āyo | iyo | ī | uyo | ū |
การดูตารางให้เลือกแถวแนวนอนที่ตรงกับเพศและพจน์ของคำ จากนั้นให้ดูแถวแนวตั้งที่ตรงกับอักษรท้ายคำ กลุ่มคำที่เป็น m. กับ nt. มักจะมีการแปรรูปที่คล้ายกันจึงวางไว้ใกล้กัน การเรียนรู้ให้เริ่มจากคำเอกพจน์ก่อนเพราะง่ายที่สุด รูป nom. sg. ส่วนมากจะไม่เปลี่ยนแปลงยกเว้นที่ควรจำเป็นพิเศษคือ m. sg. เมื่อลงท้ายด้วย a ให้เปลี่ยนเป็น o (a o) นอกนั้นคงรูปไว้ และ nt. sg. เมื่อลงท้ายด้วย a ให้เพิ่ม ṃ เข้าไปเป็น aṃ นอกนั้นคงรูปไว้
ภาระที่ต้องจำจริง ๆ อยู่ที่คำพหูพจน์ มีหลักง่าย ๆ คือสำหรับ m. กับ f. ถ้าอักษรท้ายสั้นให้ทำให้ยาว ถ้ายาวอยู่แล้วก็คงรูปไว้ ส่วน nt. ให้เติม ni เข้าไปด้วย ผู้เริ่มเรียนอาจต้องระวังให้ดีเพราะรูปที่คล้ายกันอาจจะเป็นคนละพจน์ก็ได้ เช่น m. pl. กับ f. sg. อาจลงท้ายด้วย ā เหมือนกัน นอกจากนี้รูปพหูพจน์ยังมีการแปลงอักษรให้เป็นอย่างอื่นอีก เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่าง m. pl. กับ f. pl. ผู้เรียนต้องใช้เวลากับการศึกษาและจดจำในส่วนนี้ด้วยเพราะเราจะพบรูปเหล่านี้บ่อย ๆ
ตัวอย่างคำนามที่แปลงเป็น nom. แล้วมีดังนี้
ศัพท์ | เพศ | บทเอกพจน์ | บทพหูพจน์ | ความหมาย |
---|---|---|---|---|
dāraka | m. | dārako | dārakā | a boy/boys |
sūci | m. | sūci | sūcī sūcayo | a needle/needles |
hatthī | m. | hatthī | hatthī hattino | an elephant/elephants |
taru | m. | taru | tarū taravo | a tree/trees |
nhārū | m. | nhārū | nhārū nhāruno | a tendon/tendons |
dārikā | f. | dārikā | dārikā dārikāyo | a girl/girls |
asani | f. | asani | asanī asaniyo | a thunderbolt/thunderbolts |
sammajjanī | f. | sammajjanī | sammajjanī sammajjaniyo | a broom/brooms |
rajju | f. | rajju | rajjū rajjuyo | a rope/ropes |
sarabū | f. | sarabū | sarabū sarabuyo | a gecko/geckoes |
kula | nt. | kulaṃ | kulāni | a family/families |
akkhi | nt. | akkhi | akkhīni | an eye/eyes |
indadhanu | nt. | indadhanu | indadhanū indadhanūni | a rainbow/rainbows |
ประโยคนามโดด
อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาโบราณตระกูลนี้ เมื่อคำนามใดแปรรูปเป็น nom. แล้วคำนั้นจะมีความหมายเป็นประธานของประโยค แม้คำกริยาจะไม่ปรากฏก็ถือว่าเป็นประโยคที่สมบูรณ์แล้ว ในตำราบาลีเรียกประโยคแบบนี้ว่า ลิงคัตถะ เราจะไม่ใช้คำนี้แต่จะเรียกว่า ประโยคนามโดด แทน คือเป็นประโยคที่มีแต่คำนามหลัก (อาจจะมีคำขยายด้วยก็ได้แต่เรายังไม่พูดถึง ดูที่ นามกับบทขยาย)
ประโยคแบบนี้ส่วนมากจะใช้เป็นหัวเรื่อง บางครั้งเป็นการระบุสถานะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่ามีอยู่ ตัวอย่างเช่น dārako แปลว่า เด็กชายคนหนึ่ง (มีอยู่) ในคำอธิบายของครูบาลีทั่วไปจะบอกว่า ถ้าไม่มีคำกริยาเวลาแปลให้เพิ่ม verb to be หรือ “เป็น/อยู่/คือ” เข้าไป ในบาลีคือ hoti (ดูที่ เป็น/อยู่/คือ) นั่นคือเวลาเห็น dārako มาโดด ๆ ให้มองเป็น dārako hoti (there is a boy)
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมื่อคำนามใดแปรรูปเป็น nom. แล้ว แม้จะมาโดด ๆ ก็ถือว่าเป็นประโยคที่มีความหมาย โดยนัยนี้จึงถือได้ว่า ทุกหน่วยที่แปลความหมายได้ในภาษาบาลีล้วนเป็นประโยคทั้งสิ้น แม้จะไม่มีคำกริยา ก็ถือว่ามี “เป็น/อยู่/คือ” แต่ละไว้ ตัวอย่างประโยคนามโดดมีดังนี้
- dārako = (There is) a boy.
- dārakā = (There are) boys.
- dārikā = (There is) a girl. หรือ (There are) girls.
- dārikāyo = (There are) girls.
- potthakaṃ = (There is) a book.
- potthakāni = (There are) books.
ว่าด้วยชื่อ
ชื่อต่าง ๆ ที่ใช้เรียกกันก็จัดว่าเป็นคำนาม เรียกว่า วิสามัญนาม (proper noun) เมื่อจะเป็นประธานก็ต้องแปรรูปเหมือนกันตามหลักที่กล่าวมา ชื่อคนไทยที่มาจากบาลีอยู่แล้วสามารถนำมาใช้ได้ เช่น สุพล ใช้เป็น สุพโล หรือ Subalo (m.) และ สุภา ใช้เป็น Subhā (f.) กรณีอย่างนี้ไม่มีปัญหาเพราะชื่อกับเพศสอดคล้องกัน ถ้าสุภาเป็นผู้ชายจะทำอย่างไร?
จะเห็นว่าการนำชื่อภาษาไทยมาใช้โดยตรงนั้นมีปัญหาเรื่องเพศของคำ และที่สำคัญมีชื่อมากมายที่ไม่ได้มาจากภาษาบาลี แล้วเราจะทำอย่างไร? วิธีง่าย ๆ คือเพิ่ม nāma (name) เข้าไปแล้วแปรไปตามเพศที่ต้องการดังตัวอย่างต่อไปนี้
- สุพล (m.) เป็น Suphon-namo
= (There is a man) named Suphon.- สุภา (m.) เป็น Subhā-namo
= (There is a man) named Subhā.- สุภา (f.) เป็น Subhā-namā
= (There is a woman) named Subhā.- ขุนทอง (m.) เป็น Khunthong-namo (ขุนทอง-นาโม)
= (There is a man) named Khunthong.- นกน้อย (f.) เป็น Noknoy-namā (นกน้อย-นามา)
= (There is a woman) named Noknoy.- Smith (m.) เป็น Smith-namo
= (There is a man) named Smith.- Smith (f.) เป็น Smith-namā
= (There is a woman) named Smith.- Smith (nt.) เป็น Smith-namaṃ [kulaṃ]
= (There is a family) named Smith.
เชิงอรรถ
-
คำคือหน่วยที่เล็กลงไป แต่ใช้สื่อสารด้วยตัวเองไม่ได้ ประโยคใช้คำเป็นองค์ประกอบในการสร้างความหมาย คือใช้คำหลายคำมาเชื่อมโยงกัน เช่น “ฉัน” เป็นคำ “วิ่ง” ก็เป็นคำ การพูดเพียงว่า “ฉัน” หรือ “วิ่ง” ไม่มีความหมาย แต่ “ฉันวิ่ง” มีความหมาย (แต่ “วิ่ง” อาจใช้เพื่อสั่งได้ โดยประโยคเต็มคือ “เธอจงวิ่ง”) ↩
-
ภาษาบาลีมีกลุ่มคำที่ไม่เปลี่ยนรูปเรียกว่า indeclinable (ind.) ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นคำเชื่อมและกริยาวิเศษณ์ บางส่วนทำหน้าที่เป็นคำกริยา ↩
-
ที่ขัดกับความหมายของคำก็มี เช่น mātugāma (woman) dāra (wife) oradha (mistress) ทั้งหมดนี่เป็น m. ↩