Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

เข้าใจธรรมชาติของคัมภีร์

สารบัญ

คัมภีร์ในที่นี้หมายถึงคัมภีร์ทางศาสนาไม่ใช่หนังสือโบราณทั่วไป ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลกคือ มีคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของศาสนานั้น ๆ อาจจะเชื่อว่ามีที่มาเหนือธรรมชาติ เช่น คัมภีร์ของศาสนายูดาย คริสต์ อิสลาม และพระเวทของฮินดู หรือเป็นการรวบรวมคำสอนของศาสดาดังเช่นพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา

สาเหตุหลักที่ต้องมีคัมภีร์คือเรื่อง อำนาจชี้ขาด (authority) เมื่อศาสดาสิ้นชีวิตแล้วการจะต้องมีคนตัดสินว่าอะไร “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” คำสอนมีความจำเป็น มิเช่นนั้นศาสนาจะไม่อาจดำรงความเป็นเอกภาพไว้ได้ การจะให้อำนาจนี้ตกอยู่กับตัวบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่น่าวางใจ เพราะความเข้าใจคำสอนของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้ การบันทึกเป็นคัมภีร์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

คัมภีร์ทางศาสนาจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของศาสดา ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นจุดศูนย์กลางของศาสนาแทนตัวของศาสดาที่จากไป ลักษณะสำคัญของคัมภีร์ศาสนาคือจะต้องรักษาเอกภาพของศาสนาไว้ ไม่ว่าที่มาหรือการพัฒนาของรูปแบบและเนื้อหาจะเป็นอย่างไร ดังที่ William Graham ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

No matter what the historical origins or textual development of its constituent parts, and no matter how diverse those parts, a scriptural corpus is commonly conceived of as a unified whole, both in its ontological origin as sacred word and its internal consistency and authoritativeness as sacred truth.1

ไม่ว่าที่มาทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร หรือการพัฒนาในส่วนเนื้อหาขององค์ประกอบต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร และไม่ว่าส่วนต่าง ๆ นั้นจะมีความหลากหลายแตกต่างกันเพียงใด ประมวลคัมภีร์ทางศาสนาจะถูกรับรู้โดยทั่วไปว่ามีความเป็นหนึ่งเดียว ทั้งการกำเนิดจากคำสอนศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนความคงเส้นคงวาและมีอำนาจชี้ขาดในฐานะความจริงอันศักดิ์สิทธิ์

ที่ว่ามาเป็นหลักการทั่วไปที่พบได้ในศาสนาส่วนใหญ่ แต่คัมภีร์ของพุทธศาสนามีคุณลักษณะแตกต่างจากของศาสนาอื่นคือพุทธศาสนาไม่ถือว่าภาษาของคัมภีร์มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวภาษาเองเหมือนภาษาฮิบรู อารบิค หรือสันสกฤต ภาษาในมุมมองของพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือที่อยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจังเหมือนสิ่งอื่น ๆ Carl Olson สรุปไว้อย่างเห็นภาพว่า

The Buddhist conception of scripture is grounded in its understanding of language, which is identified as an impermanent human creation. If language like everything else within the world is impermanent, it does not possess an enduring structure or metaphysical status. Lacking any intrinsic value, the words of scripture are only valuable in an instrumental way, which suggests that the value of the Buddha’s discourses have value to the extent that they accomplish something, such as helping a person achieve enlightenment.2

แนวคิดเรื่องคัมภีร์ของพุทธศาสนาตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจในภาษาอันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ถ้าภาษาอยู่ภายใต้กฎแห่งอนิจจังเหมือนสิ่งอื่น ๆ ภาษาก็ไม่มีโครงสร้างที่ถาวรหรือสถานะเหนือธรรมชาติ (metaphysical) เมื่อคำต่าง ๆ ไม่มีความสำคัญในตัวเอง คัมภีร์จึงมีคุณค่าเป็นเพียงเครื่องมือ หมายความว่าคำสอนต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าจะมีค่าก็ต่อเมื่อถูกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง เช่นช่วยให้บุคคลบรรลุธรรมเป็นต้น

การทำลายความยึดมั่นในภาษาดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจของพระพุทธเจ้าเองที่อนุญาตให้ภิกษุเรียนคำสอนด้วยภาษาของตนเอง3 ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ของพุทธศาสนาจึงปรากฏอยู่ในหลายภาษาได้แก่ บาลี สันสกฤต จีน และทิเบต เป็นต้น ถึงแม้พระไตรปิฎกภาษาบาลีจะมีความสมบูรณ์ที่สุดแต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการเป็นตัวแทนของพุทธศาสนา เพราะบาลีเองก็ไม่ใช่ภาษาต้นฉบับ4 มีสถานะเป็นภาษาที่ถูกแปลมาเหมือนภาษาอื่น ๆ

ความหลากหลายของคัมภีร์สะท้อนลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนา คือความสามารถในการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ความหลากหลายนี้ทำให้ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาขาดเอกภาพ (ขัดกับหลักการที่กล่าวไว้ข้างต้น) ข้อนี้อยู่ที่เราจะให้ “เอกภาพ” กินความหมายขนาดไหน ถ้าเรามองพุทธศาสนาย่อยลงไปในระดับนิกายความมีเอกภาพย่อมเห็นได้จากการให้ความสำคัญของคัมภีร์ในภาษาใดภาษาหนึ่ง และถ้ามองภาพรวมเอกภาพของพุทธศาสนาก็สามารถเห็นได้ที่เป้าหมายหลักคือความดับทุกข์ โดยใช้วิธีการ (อุบาย) ที่แตกต่างกัน

ปัญหาเรื่องการส่งต่อคำสอน

ที่ว่ามาเป็นภาพรวมทั่วไปของคัมภีร์ทางศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาที่มีลักษณะสำคัญคือไม่ผูกตายไว้กับภาษาใดภาษาหนึ่ง เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เราจะมาพิจารณาอย่างมีเหตุผลกรณีการส่งต่อคำสอนจนกลายมาเป็นคัมภีร์ที่เราเห็นจนทุกวันนี้

ตามคำอธิบายในพระไตรปิฎกเอง การรวบรวมคำสอนครั้งแรกเกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานสามเดือน มีขั้นตอนง่าย ๆ คือ พระอุบาลีเป็นคนทวนพระวินัย พระอานนท์เป็นคนทวนพระสูตร เมื่อสงฆ์สอบทานสิ่งที่จำไว้แล้วยอมรับ (อาจจะมีการเพิ่มเติมแก้ไขแล้วแต่กรณี) ก็มีการสวดพร้อมกัน (คล้ายการประทับตราว่า approved) นี่เป็นที่มาของ สังคายนา จากนั้นสิ่งที่ได้ก็ถูกจดจำไว้และส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนในที่สุดมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ศรีลังกาประมาณ 500 ปีหลังจากนั้น ในช่วงนี้พระไตรปิฎกยังไม่นิ่งยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ จะมาปิดเล่มจริง ๆ ก็ในยุคอรรถกถาอีกประมาณ 500 ปีต่อมา

ผู้เขียนไม่อยากจะโต้แย้งกรณีความน่าเชื่อถือของการส่งต่อด้วยการจดจำและการบันทึก เอาเป็นว่าเราเชื่อในความสามารถของผู้ทรงจำและความพยายามที่จะรักษาจารึกให้ดีที่สุด5 แต่ผู้เขียนขอให้ผู้ศึกษาใช้เหตุผลในการพิจารณาเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น

ช่วงที่มีปัญหาจริง ๆ แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือช่วงก่อนที่จะมีการสังคายนาครั้งแรก เป็นช่วงของการถ่ายทอดที่ไร้รูปแบบแน่นอน ลองพิจารณาการเทศนาครั้งหนึ่งของพระพุทธเจ้ากับชนกลุ่มหนึ่ง พระพุทธเจ้าพูดกับคนหลายคน แต่ละคนเข้าใจความไม่เหมือนกัน บางคนบรรลุธรรม บางคนไม่ และผู้คนในครั้งนั้นก็จดจำคำเทศนาในแบบของตัวเอง ซึ่งจะไม่ตรงกันเลย แม้แต่ผู้ที่บรรลุธรรมด้วยกันก็ไม่สามารถจำคำสอนได้ตรงกัน และอาจจะเข้าใจไม่เหมือนกัน (คือบรรลุธรรมด้วยเหตุต่างกัน) ที่ว่ามานี้เป็นธรรมชาติของการสื่อสารเป็นความจริงที่จะต้องเกิดขึ้น

หมายความว่า ในการเทศนาครั้งหนึ่ง ๆ ของพระพุทธเจ้า อาจจะมีสิ่งที่ถูกบันทึกไว้เป็นร้อยเป็นพันแบบ (เรียกในสมัยนี้ว่าเวอร์ชั่นก็ได้) ตามมุมมองของผู้บันทึกจดจำ และน่าจะมีจำนวนน้อยมากที่จะมาตรวจสอบความเข้าใจของตัวเองกับผู้พูดโดยตรง ผลที่ได้จากการสังคายนาครั้งแรก ว่ากันตามประวัติ เป็นผลการจดจำของพระอานนท์กับพระอุบาลี (พระสูตรเวอร์ชั่นพระอานนท์ กับพระวินัยเวอร์ชั่นพระอุบาลี) และเป็นไปได้ที่ยังมีคำสอนอีกมากที่ไม่ได้นำเข้ามาในการสังคายนา ตามที่ปรากฏหลังการสังคายนาว่าพระปุราณะผู้มาทีหลังก็มีคำสอนที่จดจำไว้ (และน่าจะมีบางส่วนไม่ตรงกับที่ได้ลงมติไว้แล้ว) และเป็นไปได้ที่ยังมีพระเถระอีกมากที่จำคำสอนไว้แต่กระจายอยู่ตามชนบทต่าง ๆ ไม่ได้เข้าร่วมกับภิกษุในเมือง

จากข้อเท็จจริงตรงนี้ทำให้เราพอเห็นได้ว่า การตัดสินใจว่าอะไรคือคำสอนหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่การทรงจำไว้อย่างเดียว แต่อยู่ที่ใครคือผู้มีอำนาจในการชี้ขาด และดูเหมือนว่าพุทธศาสนากับการเมืองมีความใกล้ชิดกันตั้งแต่เริ่มต้น ถึงแม้พระอานนท์จะจำคำสอนได้จำนวนมาก แต่อำนาจการตัดสินไม่ได้อยู่ที่ตัวท่านเอง แต่เป็นคณะสงฆ์ (รวมถึงตัวแทนผู้ปกครองที่สนับสนุนการสังคายนา) เมื่อพิจารณาภาพการประชุมสมัชชาอย่างนี้ เราจะรู้ได้ว่าความเห็นต่างและการโต้แย้งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา (พระอรหันต์ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง) สิ่งที่เราไม่รู้คือการหาข้อสรุปสุดท้ายจะทำด้วยวิธีออกเสียงข้างมากหรือใช้ผู้มีอำนาจตัดสิน (ผู้เขียนคิดว่าเป็นประการหลัง)6

ปัญหาเรื่องบทบาทของพระอานนท์

พระอานนท์มีบทบาทสำคัญในการส่งต่อและรวบรวมคำสอนจนกลายมาเป็นพระไตรปิฎก ตามประวัติที่ว่าไว้ (โดยคัมภีร์เอง) พระอานนท์จดจำคำสอนได้มากที่สุดเพราะเป็นพระอุปัฏฐาก7 นั่นคือพระอานนท์เป็นเครื่องบันทึกเสียงของพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระอานนท์จำไว้ย่อมไม่เป็นที่น่ากังขา และเชื่อถือได้ว่าตรงตามพุทธประสงค์ นั่นเป็นภาพที่ผู้รวบรวมคัมภีร์พยายามวาดในเราเชื่อ แต่เมื่อใช้เหตุผลมากขึ้นเราก็จะพบปัญหาเหล่านี้

  1. พระอานนท์ไม่ได้เป็นพระอุปัฏฐากตั้งแต่แรก (อย่างน้อยก็น่าจะบวชแล้วยี่สิบปี) หมายความว่าคำสอนก่อนหน้านั้นจะต้องจำโดยคนอื่น เป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าจะเล่าทุกอย่างตลอดยี่สิบปีให้ฟัง พระอานนท์อาจจะจำของท่านเองก็ได้ แต่ดูเหมือนการถ่ายทอดเรื่องราวจะเป็นแบบเล่าสู่กันฟัง (anecdotal) มากกว่าเป็นรูปแบบที่มีระบบ
  2. ความจำของมนุษย์ไม่ได้ทำงานแบบเครื่องบันทึกเสียงหรือวิดีโอ เราจะตีความตามที่เราเข้าใจแล้วจำไว้ เวลาเรียกคืนความจำเราจะสร้างเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นใหม่ และโอกาสที่จะได้เรื่องไม่ตรงกับตอนที่เก็บไว้มีสูงมาก เพราะความจำเรามักจะปนกัน คือเอาเรื่องที่คล้าย ๆ กันมารวมกัน บางครั้งเราก็สับสนในที่มา และบางครั้งเราก็จำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย (อาจจะเอามาจากความฝัน นิยาย ภาพยนตร์ หรือคนเล่าให้ฟัง) สรุปความว่าความจำของมนุษย์นั้นเชื่อถือไม่ได้8 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการเล่าสู่กันฟัง ที่ไม่ใช่การฝึกจำอย่างเป็นระบบ)
  3. ตลอดอายุการอุปัฏฐากของพระอานนท์ท่านเป็นเพียงพระโสดาบันเท่านั้น หมายความว่าพระอานนท์ยังไม่ได้มีจิตที่หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นและอคติทั้งปวง9 การตีความคำสอนแล้วทรงจำไว้จึงเป็นการปรุงแต่งของพระอานนท์เอง ตามกำลังความเข้าใจของท่าน ซึ่งมีโอกาสบิดเบือนสูง (ยิ่งพระอานนท์รักพระพุทธเจ้ามากเท่าใดความบิดเบือนก็มากเท่านั้น)

ในความเป็นจริงประเด็นหลักเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพระอานนท์เท่านั้น เพราะท่านเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งที่ถูกกำหนดบทบาทขึ้นมา (พระอานนท์อาจจะมีจริงตามประวัติศาสตร์ แต่บทบาทที่เกี่ยวกับการส่งต่อคัมภีร์ดูจะเป็นการแต่งเติมขึ้นมากกว่า) ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่ความเข้าใจผิดเรื่องความจำของมนุษย์ คนสมัยนั้นเชื่อว่าความจำเหมือนเครื่องบันทึก แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ การทรงจำและเรียกคืนเรื่องราวใด ๆ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเชื่อของบุคคล ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสภาพทางอารมณ์ในขณะนั้น ๆ การจะสรุปว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงจำและเล่าต่อกันมานั้นตรงตามต้นฉบับเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การจดจำและรักษาคำสอนที่ลงตัวแล้วหลังการสังคายนา (เพราะหลังจากนี้ผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด) แต่เป็นปัญหาการบิดเบือนเนื่องจากการเล่าสู่กันฟังจากปากต่อปากก่อนที่สิ่งที่ถูกจำไว้จะลงตัวเป็นคำพูดอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเข้าใจของบุคคล10 ดังนั้นการตั้งข้อสงสัยในจุดที่ควรสงสัยจึงเป็นการปฏิบัติที่มีเหตุผลในการอ่านพระไตรปิฎก

ปัญหาเรื่องการแปลและตีความคัมภีร์

จากที่ว่ากันมาจนถึงตรงนี้น่าจะพอให้ท่านทั้งหลายเห็นพระไตรปิฎกได้ชัดขึ้น จุดประสงค์ของผู้เขียนไม่ได้บอกว่าพระไตรปิฎกเชื่อถือไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามี เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ แต่ผู้เขียนพยายามสร้างความเข้าใจที่มีเหตุผลต่อพระไตรปิฎก เพื่อลดความยึดมั่นถือเป็นจริงเป็นจังในเรื่องเล่า และให้ผู้ศึกษาหันมาใช้เหตุผลมากขึ้น

เรื่องจะกล่าวต่อไปเป็นเรื่องยากและสำคัญ เป็นเรื่องที่ผู้สนใจควรจะศึกษาอย่างจริงจัง โดยทั่วไปเราจะได้เรียนเรื่องเหล่านี้ในระดับบัณฑิตศึกษา ในที่นี้จึงขอแนะนำเพียงผิวเผิน

ผลจากการทรงจำและรักษาคำสอนทำให้เกิดพระไตรปิฎกภาษาบาลีขึ้น และผู้ที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาจะต้องอ่านจากภาษาบาลี ปัญหาหลักคือภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาที่ใช้พูดกัน การอ่านเพื่อจับใจความจึงต้องศึกษาและใช้ความพยายามมาก ความพยายามที่จะอธิบายความเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยแรก ๆ พระอภิธรรมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นอรรถกถารุ่นแรก ที่มีการเรียบเรียงและตีความคำสอนจากพระสูตร คัมภีร์นิทเทสก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์คล้ายกัน จนมาถึงยุคทองของอรรกถาโดยการนำของพระพุทธโฆสาจารย์ คำอธิบายต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น บางครั้งก็อธิบายเกินไป จนกลายเป็นการเพิ่มเรื่องใหม่เข้าไปอีก ผู้ศึกษาเองบางทีก็ไม่รู้จะเชื่อดีหรือไม่ การมีคำอธิบายมากก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจดีขึ้นเสมอไป

นี่เป็นปัญหาของการแปลและการตีความ (ขอรวบเป็นเรื่องเดียวกันเพราะเราจะตีความได้ก็ต้องแปลก่อน และการแปลก็ต้องอาศัยการตีความอย่างใดอย่างหนึ่ง) ในปัจจุบันเราไม่สามารถเข้าใจพระไตรปิฎกได้ด้วยภาษาบาลีโดยตรง เราจะต้องแปลบาลีเป็นภาษาที่เราเข้าใจได้ก่อน การแปลความจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งไม่ใช่การแปลงไฟล์ภาพแบบ PNG เป็น JPG ที่สามารถรักษารายละเอียดส่วนใหญ่เอาไว้ได้ การแปลเป็นการประพันธ์อย่างหนึ่ง หมายความว่าผู้แปลจะต้องตัดสินใจเลือกใช้คำที่ใกล้เคียงกับความหมายต้นฉบับ ซึ่งบ่อยครั้งมีความกำกวมและอาจจะไม่มีคำเทียบที่ใช้ได้ในภาษาเป้าหมาย ฉะนั้นความที่ได้จากการแปลไม่มีทางที่จะเหมือนความตามต้นฉบับ การแปลจึงเป็นการอ่านต้นฉบับด้วยพื้นฐานความเข้าใจของผู้แปลเอง คล้าย ๆ การคุยกันระหว่างต้นฉบับกับผู้แปล ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าไม่มีการแปลใดที่ถูกต้องที่สุด แต่อาจจะมีอันที่ดีกว่ากับแย่กว่า เข้าใจง่ายกว่ากับยากกว่า11

จากที่ว่ามาจะเห็นว่าทางที่ดีที่สุดในการศึกษาพระไตรปิฎกคือการอ่านจากต้นฉบับด้วยตัวเอง การศึกษาบาลีจึงมีความสำคัญและจำเป็น แต่อาจจะไม่ต้องทำให้ยากเหมือนหลักสูตรตามจารีต การเชื่อตามฉบับแปลเท่านั้นเป็นการนำตัวเองไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกครอบงำทางความคิด ฉบับแปลอาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีในเบื้องต้น แต่เพื่อความเข้าใจที่ดีที่สุดเราควรเห็นฉบับบาลีด้วยทุกครั้ง

ส่วนการตีความนั้นถ้าว่ากันโดยวิชาการจะมีความซับซ้อนมาก เราจะต้องศึกษา hermeneutics ก่อนเพื่อให้รู้หลักการทั่วไป แล้วเจาะไปที่ Buddhist hermeneutics ซึ่งก็มีความยากไม่ต่างกัน12 เรื่องนี้มากเกินไปสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ เหมาะกับผู้ที่จะทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์มากกว่า การทำความเข้าใจพระไตรปิฎกเพียงแค่รู้ภาษาบาลีกับหลักการแปล (ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือของผู้เขียน) ก็น่าจะเพียงพอ

ขอสรุปส่วนนี้ด้วยข้อสังเกตจาก Natalie Gummer ในเรื่องการแปล ดังนี้

It is clear, however, that translation is an interpretive practice. Any translation will privilege the aspects of a text that the translator perceives to be of central importance. Much of Buddhist literature is conceived of as not only conveying meaning, but also possessing transformative potential. The translation of such texts in Buddhist communities, then, involves rendering those qualities of a text that a particular translator or tradition of translation deems to be powerful. In this sense, translation practices have played and continue to play a central role in the ongoing transmission and transformation of the Buddhist tradition, not only in making texts accessible to different cultural and linguistic communities, but also in recreating the interpretive possibilities for Buddhist thought and practice.13

อย่างไรก็ตามเป็นที่ชัดเจนว่าการแปลเป็นการตีความอย่างหนึ่ง เพราะในทุก ๆ การแปลจะมีการยกระดับความพิเศษในส่วนที่ผู้แปลเห็นว่ามีความสำคัญ วรรณกรรมพุทธศาสนาจำนวนมากไม่เพียงแต่นำเสนอเรื่องราวเท่านั้น แต่มีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย ผู้แปลเนื้อความดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในสังคมพุทธ ดังนั้นการแปลจึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการสืบทอดคำสอนตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสังคมพุทธ โดยไม่เพียงทำให้วัฒนธรรมอื่น ๆ เข้าถึงคำสอนได้ แต่เปิดโอกาสให้การตีความที่เป็นไปได้อื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย ทั้งด้านแนวคิดและการปฏิบัติ

จากความที่ยกมาจะเห็นว่าการแปลไม่เพียงเป็นการทำความเข้าใจเนื้อความอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่การแปลเป็นการสร้างตัวขนบจารีตเอง อย่างสังคมไทยถูกหลอมด้วยความเป็นพุทธไม่ใช่ด้วยพระไตรปิฎกภาษาบาลี แต่เป็นพระไตรปิฎกที่แปลออกมาเป็นภาษาไทย (โดยการควบคุมของผู้มีอำนาจ) ผู้แปล (หรือทั้งระบบของการแปล) จึงมีอิทธิพลต่อการสร้างความจริงในทางศาสนา

เมื่อเรารู้อย่างนี้ เราสามารถลดบทบาทของอิทธิพลการแปลเชิงจารีตนิยมโดยการอ่านพระไตรปิฎกบาลีด้วยตนเอง การจะทำอย่างนี้ได้เราต้องปฏิวัติการศึกษาภาษาบาลีให้มีความทันสมัยขึ้นด้วย และนี่ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของโครงการนี้

ท่าทีที่ถูกต้องต่อพระไตรปิฎก

เมื่อเราเข้าใจแล้วจริง ๆ ว่าคัมภีร์ทางศาสนามีที่มาที่ไปอย่างไร เราควรจะปฏิบัติอย่างไร? ในแนวจารีตนิยมที่ยังสอนกันอยู่ในระบบทุกวันนี้ การสนับสนุนให้มองว่าพระไตรปิฎกคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า มีความถูกต้องและไม่ควรจะโต้แย้ง ยังถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ท่านพุทธทาสภิกขุกลับเคยเสนอให้ตัดเนื้อหาออกเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ และท่านเจ้าประคุณป. อ. ปยุตฺโตมักพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า พระไตรปิฎกมีไว้ให้รู้ ให้ศึกษา ไม่ได้มีใว้ให้เชื่อ (ทั้งหมด)

ก่อนที่จะวางท่าทีเราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ไม่มีส่วนใดของพระไตรปิฎกที่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรง ทุกส่วนล้วนเกิดจากการเล่าความและจัดรูปแบบใหม่ และหลายส่วนมีความชัดเจนว่าที่มาของคำพูดเป็นของคนอื่นไม่ใช่พระพุทธเจ้า

ถ้าเราถือว่าพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพุทธวจนะ เราควรจะเข้าใจว่าพระไตรปิฎกคือผลผลิตของวัฒนธรรมพุทธทั้งระบบ คำสอนต่าง ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากพุทธเจ้าโดยตรง (จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถจะพิสูจน์ได้เลย) ทั้งหมดคือภูมิปัญญาของชุมชนพุทธที่มีแก่นอันเดียวกัน การสังคายนาพระไตรปิฎกจึงไม่ได้เป็นการรักษาของเก่า (เพราะก่อนสังคายนาแต่ละครั้งของเก่าย่อมพร่าเลือน และถ้าของเก่ายังมีสภาพดีการสังคายนาก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น) แต่เป็นการหาข้อสรุปว่าอะไรควรจะถือว่าเป็นพุทธวจนะ ด้วยเหตุอย่างนี้พระไตรปิฎกจึงโตขึ้นทุกครั้งที่มีการสังคายนา

ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ เราจะลดความเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของพระไตรปิฎกลง เราจะมองพระไตรปิฎกเป็นคลังความรู้ที่สะสมสืบทอดมา เวลาเราจะใช้ความรู้จากคลังนี้ให้เกิดประโยชน์ เราก็ต้องรู้จักเลือก เพราะบางอย่างอาจจะไม่สอดคล้องกันหรือขัดแย้งกัน (เช่นแนวคิดเรื่องอนัตตากับการเวียนว่ายตายเกิด) และหลาย ๆ อย่างอาจจะล้าสมัยจนนำมาใช้ไม่ได้ (เช่นแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือชนชั้นในสังคม)

อย่างนี้จึงเรียกว่ามีท่าทีถูกต้อง กล่าวคือ พระไตรปิฎกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า แต่ไม่ใช้สิ่งที่จะตั้งไว้บนแท่นบูชาเพื่อกราบไหว้ เราควรจะศึกษาให้เข้าใจอย่างมีเหตุผล คือเข้าใจด้วยตัวเองจริง ๆ ไม่ใช่โดยการชักจูงครอบงำโดยระบบคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง และเรามีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยในทุกเรื่อง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วเราก็จะสามารถเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อหรือเลือกมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

เชิงอรรถ

  1. William A. Graham, 1987/2005, “Scripture,” in Encyclopedia of Religion, edited by Lindsay Jones, 2nd ed., 12:8194–8205, Thomson Gale, p. 8201. 

  2. Carl Olson, 2011, Religious Studies: The Key Concepts, Routledge, p. 223. 

  3. เรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่าที่คิด อ่านเพิ่มเติมใน “Critical Introduction to Pāli” บทที่ 1 ของ Pāli for new Learners, Book 1, https://bhaddacak.github.io/palicon 

  4. เรื่องนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนเชิงวิชาการและมีสิ่งที่ต้องรู้มากมาย รวมทั้งข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ว่า ความเชื่อของพุทธโฆษาจารย์ที่ว่าบาลีหรือภาษามคธเป็นภาษากลางของมนุษย์ หรือ มูลภาษา (Vism 14.428) นั้นไม่ตรงตามความเป็นจริง และหลักฐานโบราณคดีชี้ว่าพระพุทธเจ้าน่าจะพูดภาษาอื่นในตระกูลเดียวกัน อีกอย่างหนึ่งภาษาที่บันทึกในคัมภีร์ไม่ใช่ภาษาที่ใช้พูดจริง ๆ (อย่างน้อยก็ในขณะที่คัมภีร์ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร) เป็นภาษาประดิษฐ์ที่ใช้เพื่อการบันทึกและจดจำโดยเฉพาะ 

  5. ถ้าคิดให้ดี ความเชื่อที่ว่าการส่งถ่ายพระไตรปิฎกมีความน่าเชื่อถือสูงได้นั้นเป็นเพียงความคิดตามความปรารถนา (wishful thinking) เท่านั้น เพราะถ้ากระบวนการส่งต่อดีจริง การสังคายนาครั้งต่อ ๆ ไปไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ความจริงคือมีความคลาดเคลื่อนหรือสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น การสอบทานจึงต้องทำกันใหม่ และเมื่อทำเสร็จจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกครั้ง ทั้งด้านโครงสร้างและเนื้อหา ตัวอย่างเช่น การสังคายนาครั้งที่สามทำให้พระอภิธรรมปิฎกเกิดขึ้น (สิ่งแปลกปลอม?) และการสังคายนาที่พม่าทำให้ มิลินทปัญหา เปฏโกปเทส และเนตติปกรณ์ ถูกรวมเข้าอยู่ในพระไตรปิฎก และเป็นไปได้ถ้ามีการสังคายนาครั้งต่อ ๆ ไปพระไตรปิฎกจะอ้วนขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นจึงมองได้ว่าการส่งต่อพระไตรปิฎกไม่ใช่การรักษาของเดิม แต่เป็นการหาข้อสรุปว่าในสถานการณ์นั้น ๆ อะไรบ้างควรถือว่าเป็นคำสอน 

  6. จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานรวมทั้งข้อโต้แย้งต่าง ๆ เรื่องสิกขาบทจะเห็นว่าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่พระเถระ (พระมหากัสสปะกับพระที่ใกล้ชิดหรือเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า) การลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากดูจะไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่ใช้กันในขณะนั้น นอกจากนี้เราไม่ควรมองข้ามบทบาทของรัฐที่ต้องตรวจสอบคำสอนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง นั่นคือภายใต้การสนับสนุนของรัฐ คำสอนที่เอื้อประโยชน์ต่อการปกครองหรือไม่เกี่ยวข้องโดยตรงน่าจะผ่านการประชุมมากกว่าคำสอนที่ติเตียนผู้ปกครอง (กรณีความอยุติธรรมในสังคมเป็นต้น) 

  7. ดูเหมือนว่าตำแหน่งอุปัฏฐากนี้จะถูกตั้งขึ้นภายหลังเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกโดยรวม สังเกตจากเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเป็นอุปัฏฐากล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีเพียงพระอานนท์เท่านั้นที่ใกล้ชิดและรู้ทุกเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองอายุต่างกันไม่มาก หรืออาจจะเท่ากัน (สหชาติ) ภาพคนอายุร่วมแปดสิบอุปัฏฐากกันดูไม่ค่อยสมจริงเท่าไร 

  8. เรื่องความทรงจำที่บิดเบือนเป็นเรื่องที่ศึกษากันมากในจิตวิทยา มีการทดลองกันมากมายจนได้ข้อสรุปว่าความจำของมนุษย์ไม่ใช่เครื่องบันทึกภาพและเสียง เราจะสร้างเนื้อหาขึ้นใหม่ทุกครั้ง หนังสือที่ควรอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ The Seven Sins of Memory: How the Mind Forgets and Remembers เขียนโดย Daniel L. Schacter (2001, Houghton Mifflin Company) สำหรับผู้ต้องการความรวดเร็วดูที่ “Misattribution of memory” ใน Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Misattribution_of_memory 

  9. ในหนังสือพุทธธรรมของป. อ. ปยุตฺโต ท่านเขียนไว้ว่าพระโสดาบันปราศจากอคติ (ฉบับปรับปรุงและขยายความ หน้า 399, ฉบับปรับขยาย หน้า 920–1) เข้าใจว่าท่านตีความจากพระวินัยจูฬวรรคในตอนจะทำสังคายนา มีความว่า “ayaṃ, bhante, āyasmā ānando kiñcāpi sekkho, abhabbo chandā dosā mohā bhayā agatiṃ gantuṃ” (Cv 11.437) แปลได้ว่า “Venerable sir, this Ven. Ānanda despite on the course of learning [is] unable to prejudice from desire, anger, delusion, and fear.” จากกรณีเฉพาะของพระอานนท์ท่านตีรวมเอาถึงพระโสดาบันทั้งหมด ถ้าเราอ่านให้ดีจะเห็นว่า ความตอนนี้ใช้สร้างความมีเหตุผลที่จะดึงพระอานนท์เข้ามาในการสังคายนา (ไม่ใช่การพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า) ถ้าพิจารณาให้ดีพระโสดาบันผู้ยังละกามราคะไม่ได้ ไม่มีทางจะละอคติต่าง ๆ ได้ อีกอย่างหนึ่ง การบอกว่าใครไม่ลำเอียงไม่ได้แปลว่าคนนั้นจะละอคติได้โดยสิ้นเชิง (อาจแค่มีความเป็นกลาง ยึดหลักการมากกว่าความสัมพันธ์ส่วนบุคคล) ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้จับสลากเพื่อลงเสียงข้างมาก (Cv 4.202, 4.234) ผู้แจกเสนาสนะ (Cv 6.317) ภัตตุทเทสก์ (Cv 6.326) ผู้แจกของเคี้ยว (Cv 6.327) ผู้แจกของเล็ก ๆ น้อย ๆ (Cv 6.328) ผู้ใช้สามเณร (Cv 6.329) ทั้งหมดนี้อย่างน้อยจะต้องเป็นอริยบุคคล 

  10. ในหลายพระสูตรมีเหตุการณ์ที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทบทวนและรับรองสิ่งที่ภิกษุเข้าใจอยู่เสมอ ๆ และการสร้างรูปแบบเพื่อให้จดจำง่ายก็น่าจะมีใช้แล้วในสมัยนั้น ดังที่ปรากฏในสังคีติสูตรของทีฆนิกาย (DN 33) แต่รูปแบบที่ปรากฏเป็นเรื่องราวเหตุการณ์นั้นน่าจะเรียบเรียงกันเมื่อคราวสังคายนา ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าจะรับรองทุกอย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎก 

  11. ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการแปลใน Part I ของ Pāli for new Learners, Book 2, https://bhaddacak.github.io/palitex 

  12. สำหรับผู้สนใจ Buddhist hermeneutics และต้องการศึกษาภาพรวมที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก ผู้เขียนแนะนำให้อ่าน “Buddhist Books and Texts: Exegesis and Hermeneutics” เขียนโดย Luis O. Gómez (1987/2005) ใน Encyclopedia of Religion, edited by Lindsay Jones, 2nd ed., 2:1268–1278, Thomson Gale 

  13. Natalie Gummer, 2005, “Buddhist Books and Texts: Translation,” in Encyclopedia of Religion, edited by Lindsay Jones, 2nd ed., 2:1265–1268, Thomson Gale, p. 1268.