Skip to main content Link Menu Expand (external link) Document Search Copy Copied

เข้าใจพุทธศาสนาหลายมิติ

สารบัญ

การศึกษาเรื่องศาสนามีความซับซ้อนเพราะศาสนาเกี่ยวโยงกับบุคคลในหลากหลายมิติ เวลาคนพูดถึงพุทธศาสนาแล้วเกิดโต้เถียงกัน เป็นไปได้ว่าแต่ละคนมองกันคนละด้าน (ตัวอย่างคลาสิกคือวิวาทะระหว่างพุทธทาสภิกขุกับม.ร.ว. คึกฤกธิ์ ปราโมช) ฉะนั้นเวลาเราศึกษาพุทธศาสนาเราควรจะมองความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ด้วย เรื่องนี้ถ้าจะเอาให้ครอบคลุมก็เป็นเรื่องใหญ่โต ในบทความนี้ผู้เขียนจึงของสรุปเพียงคร่าว ๆ ว่า ในมิติต่าง ๆ พุทธศาสนามีบทบาทอย่างไร เพื่อเป็นเชื้อให้ท่านทั้งหลายได้คิดกันต่อไป

พุทธศาสนากับความดับทุกข์

ข้อนี้จะต้องพูดถึงก่อนเพราะเป็นหัวใจ เวลาท่านพุทธทาสภิกขุพูดท่านก็จะนึกถึงประเด็นนี้เป็นหลัก ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งกับหลักการอื่น ๆ (หาอ่านเพิ่มเติมจากวิวาทะดังกล่าว) เรากล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาคือพระพุทธศาสนาเพราะความดับทุกข์นี้ ถ้าเอาเรื่องดับทุกข์ออกจากพุทธศาสนาจะไม่เหลืออะไรที่เป็นลักษณะสำคัญอีกเลย ฉะนั้นในอันดับแรกเราจะต้องมองว่าพุทธศาสนาคือเทคโนโลยีดับทุกข์ (ของบุคคล ไม่ใช่ทุกข์ของสังคม)

ผลที่ตามมาในเรื่องนี้คือเราสามารถจัดลำดับได้ถูกต้องว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร และจากการศึกษาเราจะพบว่าสิ่งที่จะต้องรู้จริง ๆ เพื่อความดับทุกข์นั้นไม่มาก เราเพียงรู้จักหลักปฏิบัติเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา สรุปง่าย ๆ คือ รู้จักควบคุมกายวาจาให้อยู่ในกรอบจริยธรรมอันดี รู้จักควบคุมจิตใจและอารมณ์ และรู้จักการคิดที่มีเหตุผล1 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องประกอบต่าง ๆ อีกมากมายนั้นไม่ต้องรู้ก็ได้

บุคคลใดไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาในส่วนที่ควรได้ ความเชื่อที่ว่าการปฏิบัตินั้นยากมากจนทำกันชาตินี้ไม่ไหวเป็นความเข้าใจผิด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคำสอนของพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นหมันและพุทธศาสนาก็จะหมดสิ่งที่น่าสนใจ

พุทธศาสนากับวัฒนธรรม

ชาวไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธเพราะเกิดในวัฒนธรรมที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ได้รู้ว่าความเป็นพุทธนั้นคืออย่างไรจากการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและค่านิยมต่าง ๆ ของสังคม กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาที่เรารู้จักนั้นเป็นผลผลิตของวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะไม่เหมือนพุทธศาสนาที่เคยมีอยู่ในอินเดียเลยก็ได้ สังเกตได้ชัดจากสถาปัตยกรรมและงานจิตรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในบ้านเรา ไม่มีอะไรที่ดูเป็นอินเดียเลย รวมทั้งการแปลพระไตรปิฎกออกเป็นไทย ไม่เพียงแต่ภาษาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ค่านิยมต่าง ๆ ที่เราอ่านจากพระไตรปิฎกก็ถูกใส่ความเป็นไทยเข้าไปจนรู้สึกคุ้นเคย

เราต้องเข้าใจว่าพุทธศาสนาแบบไทยเป็นส่วนผสมของความเชื่อและหลักปฏิบัติอันหลากหลาย เราเชื่อเรื่องผี เรื่องลึกลับ ไสยศาสตร์ เราเชื่อในพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากความเชื่อของชาวจีน และรับแนวคิดจากพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้รวมกันเข้าเป็นพุทธศาสนาแบบไทย ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเชิงวัฒนธรรมกับพุทธศาสนาแบบลังกาหรือแบบพม่า (ไม่ต้องพูดถึงแบบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือทิเบต)

การศึกษาเรื่องพุทธศาสนากับวัฒนธรรมมีทำกันมากในสาขาวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งเราควรจะให้ความสนใจบ้าง การวิจัยในทางนี้บางครั้งก็ได้ผลไม่เป็นมิตรกับศาสนานัก ดังที่เห็นได้ทั่วไปในงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่พบว่า พุทธศาสนาในคัมภีร์นั้นไม่มีอะไรที่เหมือนกันกับพุทธศาสนาที่ถือปฏิบัติกันในประเทศต่าง ๆ เลย ทำให้เรามักได้ภาพพุทธศาสนาสองแบบที่ขัดแย้งกันคือ พุทธศาสนาในจินตนาการ (ตามคัมภีร์) และพุทธศาสนาที่ถือปฏิบัติจริง (ในวัฒนธรรมต่าง ๆ)

มองอีกด้านหนึ่ง การเข้าใจว่าศาสนาเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในนามของขนบทำเนียมประเพณี เพราะสิ่งที่ทำต่อ ๆ กันมาหรือที่คนส่วนใหญ่เขาทำกันไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป ตัวอย่างเช่น การบวชพระลูกชายในชนบททุกวันนี้ ต้องใช้เงินเป็นแสน ๆ จัดงานใหญ่โต เพียงเพื่อการใช้ชีวิตในผ้าเหลืองแค่หนึ่งเดือนหรือสิบห้าวัน (ยิ่งกว่านั้นขบวนแห่นาคเสียงกระหึ่มก็เต็มไปด้วยคนเมาเหล้า) พิธีบวชในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ (symbol/index) ของสถานะทางสังคม มิได้เป็นการเตรียมพร้อมความเป็นผู้ใหญ่เหมือนเมื่อก่อน the rite of passage จึงเป็นเพียงพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้มีเนื้อหาสาระจริงจังอะไร

สรุปง่าย ๆ ตรงนี้ได้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจ เมื่อรู้ว่าอะไรทำให้พุทธศาสนาเป็นอย่างที่เห็น เราก็จะสามารถวางท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นปกติที่เราต้องยอมรับกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ ในเรื่องที่ถือว่าเป็นประโยชน์อยู่ แต่บางครั้งถ้าไม่ไหวจริง ๆ เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้เมื่อมีโอกาส แม้จะยากและใช้เวลาบ้างก็ตาม เพราะแม้มนุษย์จะเกิดในวัฒนธรรมแต่มนุษย์เองก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมนั้น ๆ เปลี่ยนแปลง

พุทธศาสนากับเศรษฐกิจ

เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนแต่คนไม่ค่อยหยิบขึ้นมาพูดกัน พุทธศาสนาเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญอันหนึ่งทางเศรษฐกิจของสังคมไทย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและอ้อมนั้นมีมากมาย ทำให้เงินจำนวนมหาศาลไหลเวียนอยู่ในวงการนี้

เริ่มจากชีวิตประจำวันที่พระต้องบิณฑบาตทุกเช้าทำให้การค้าเกี่ยวกับอาหารการกินเคลื่อนไหว และในงานทำบุญน้อยใหญ่ตามโอกาสต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวกับของใช้พระและเครื่องสังฆทานต่าง ๆ ในบางกรณี เช่น งานวัดประจำปี หรืองานบวชลูกชายคนเดียวที่จัดใหญ่โต มักจะมีธุรกิจบันเทิงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างก็มีส่วนร่วมกับวัดไม่น้อยเพราะวัดมักจะมีงานก่อสร้างอยู่เป็นประจำ (ผลงานของพระสังฆาธิการมักจะวัดกันที่จำนวนสิ่งปลูกสร้างภายในวัด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดที่มีผู้คนศรัทธาจนมีเงินบริจาคจำนวนมาก บางครั้งทางวัดก็ต้องคิดโครงการการก่อสร้างทุกปีทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไร เพราะการระดมทุนจะต้องทำกันอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานญาติโยมเอาไว้

ที่เป็นอย่างนี้สาเหตุหนึ่งมาจากพระเองที่ส่งเสริมแต่การทำบุญ จนคนทุกวันนี้เห็นว่าพระเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง และพระจำนวนไม่น้อยที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจการบวชและดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต เรื่องนี้อาจจะมองเป็นการพึ่งพากันของศาสนากับพระ เมื่อคนบวชเพื่อเรียนหรือเพื่อฝึกตนนั้นน้อยลง ศาสนาก็ต้องอาศัยคนที่บวชเพื่อวัตถุประสงค์อื่นมาเป็นกำลัง จนระบบต่าง ๆ ลงเอยอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ และวันดีคืนดีเราก็จะเห็นข่าวว่าวัดบางวัดที่มีเงินบริจาคมหาศาลโดนยักยอกเงินโดยคนที่ดูแล (ซึ่งส่วนมากก็เป็นพระนี่เอง)

ที่ว่ามานี้เป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องปกติ ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมหลายครั้งที่ท่านฟังพระพูด เมื่อจบแล้วเงินจะต้องออกจากกระเป๋าทุกครั้งไป เรื่องบุญกับวิถีชาวพุทธนั้นแยกกันไม่ออก เมื่อเราเข้าใจหรือถูกสอนให้เข้าใจว่า บุญคือเงิน2 พุทธศาสนากับเศรษฐกิจจึงแยกกันไม่ออกด้วยเช่นกัน

พุทธศาสนากับการเมือง

แม้ว่าพุทธศาสนาจะพยายามจะกันตัวเองออกจากการเมืองการปกครอง แต่ข้อเท็จจริงคือถึงแม้เราจะไม่ยุ่งกับการเมือง แต่การเมืองมักจะยุ่งกับเรา (อาจจะมองว่านั่นเป็นหน้าที่ของการเมืองเอง) จากประวัติศาสตร์พระพุทธเจ้าเข้าเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองแว่นแคว้นต่าง ๆ เพราะท่านเป็นที่นับถือของคนจำนวนมาก และเมื่อใดเราเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เราจะต้องสัมพันธ์กับการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อความสัมพันธ์กับการเมืองราบรื่นศาสนาก็จะเจริญ นี่เป็นภาพที่เห็นได้จากประวัติศาตร์ของพุทธศาสนา

การสังคายนาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อกิจกรรมทางศาสนาที่อาจจะส่งผลกระทบออกไปเป็นวงกว้าง ทางการจะต้องเข้ามาดูแลจัดการ การมองว่าผู้ปกครองเข้ามาสนับสนุนเพราะศรัทธานั่นดูง่ายและไร้เดียงสาเกินไป และเราไม่อาจจะปฏิเสธความเป็นได้ที่ว่ากระบวนการการสังคายนาจะต้องผ่านการตรวจตราของผู้ปกครองด้วย และอาจจะมีผลในการปล่อยผ่าน ยับยั้ง หรือแก้ไขในเรื่องบางเรื่อง (อันนี้ไม่มีหลักฐานใดที่จะชี้ชัดได้ แต่เราคิดได้ว่าระบบการปกครองที่ดีจะไม่ปล่อยให้การกระทำที่มีผลต่อคนจำนวนมากผ่านไปโดยไม่ตรวจสอบ)

เมื่อมองมาที่ประเทศไทย พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่การเมืองนำมาใช้ตั้งแต่ยุคแรก ๆ เพราะพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาของคนรากหญ้าทั่วไป (พุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญาชน คนทั่วไปที่นับถือผีอยู่แล้วยากที่จะเข้าใจได้) แต่เป็นระบบความคิดและแนวปฏิบัติที่ผู้ปกครองนำเข้ามาเพื่อให้ประชาชนได้ “มีศาสนา” แต่ความมีศาสนานี้ถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยผู้ปกครองเองผ่านทางสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นคนของพระราชาโดยตรง3

เรื่องพุทธศาสนากับการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาจะมองข้ามหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ เราอาจจะทำอะไรได้ไม่มากนักที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ แต่เราควรจะรู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คอยแต่จะมองว่าโลกนี้สวยงาม ทุกคนเป็นคนดีหมด เมื่อเราเห็นอย่างนี้เราจะเข้าใจว่าทำไมคณะสงฆ์บ้านเราจึงเป็นอย่างนี้ พระทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการที่คอยควบคุม (อย่างนุ่มนวลแนบเนียน) ให้ประชาชนประพฤติอยู่ในกรอบของ “ศีลธรรม”

คำว่า “ศีลธรรม” นี้ไม่ได้เกิดจากพุทธธรรมทั้งหมด แต่เกิดจากการเลือก (หรือเพิ่มเข้าไปถ้าไม่มี) แนวทางการปฏิบัติที่ส่งเสริมด้านการปกครองมากที่สุด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเน้นในข้อธรรมบางข้อจนเกินพอดี เช่น ความกตัญญูกตเวที ธรรมะข้อนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใจคนไทย ไม่ว่าใครก็ตามที่ให้เราเขามีบุญคุณ (ดังที่พุ่มพวง ดวงจันทร์เคยร้องไว้ ว่า “แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้นเนรคุณ”4) เราก็ต้องตอบแทนเขา (ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ทำดีทำชั่วมาอย่างไร) นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่พึงพาผู้มีอำนาจจนทุกวันนี้ ในขณะที่เรื่องความถูกต้องเที่ยงธรรมนั้นแทบจะไม่มีการกล่าวถึง

พุทธศาสนากับกิจกรรมพุทธิปัญญา

ในขณะที่พุทธศาสนาเพื่อความดับทุกข์มีสิ่งที่ต้องรู้ไม่มาก แต่พุทธศาสนาในฐานะองค์ความรู้นั้นมีมากมายให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ เรามีพระไตรปิฎกภาษาบาลีและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ลำพังแค่นี้กว่าจะศึกษาภาษาบาลีจนใช้งานได้แล้วอ่านทั้งหมดนั่นก็กินเวลาทั้งชีวิตแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นพุทธศาสนศึกษายังเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางในวงการโลก เรายังมีทั้งคัมภีร์ภาษาสันสกฤต จีน ทิเบต และภาษาอื่น ๆ ให้ศึกษาอีก รวมทั้งผลงานวิชาการต่าง ๆ จำนวนมากในภาษาอังกฤษและอื่น ๆ เรียกได้ว่าการเรียนพุทธศาสนาเพื่อเป็นกิจกรรมทางพุทธิปัญญา (intellectual activities) นั้นเรียนกันไม่หมดในชาตินี้

ที่ว่ามานี้เพียงอยากให้ผู้ศึกษารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และมีเป้าหมายอะไร บางคนมักบอกต้องการรู้พุทธศาสนาเพื่อพ้นทุกข์แต่กลับไปศึกษาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ทำตัวเองให้ยุ่งอยู่กับการค้นคว้าและถกเถียงกัน แทนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ตัวอย่างที่มักจะพูดถึงกันก็คือพระอภิธรรมซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของการค้นคว้า เรียกว่าเป็น scholastic work ยุคแรกของพุทธศาสนา

การศึกษาพระอภิธรรมไม่ได้มีอะไรไม่ดี เพราะการรู้สิ่งต่าง ๆ ย่อมดีกว่าไม่รู้อะไรเลย แต่เราต้องเข้าใจว่าพระอภิธรรมไม่ได้มีอะไรที่ “จริง” มากไปกว่าพระสูตร (บางประเด็นก็มีมุมมองที่ต่างกัน) เป็นเพียงการรวบรวมเรียบเรียงและสรุปออกมาให้ดูเป็นวิชาการเท่านั้น เนื้อหาจึงดูยากและ sophisticated อย่างเกินความจำเป็น (เห็นได้จากคัมภีร์ปัฏฐานที่น้อยคนนักจะอ่านรู้เรื่อง)

นอกจากความรู้ที่เกิดจากพุทธศาสนาเอง ในปัจจุบันมีผู้สนใจมากมายเชื่อมโยงความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เข้ากับพุทธศาสนา ที่เห็นได้ชัด คือ จิตวิทยา มีการศึกษาการทำสมาธิแบบพุทธศาสนาเพื่อจิตบำบัดหรือลดความเครียด จนถึงการศึกษาการทำงานของสมองขณะทำสมาธิ ในสาขาวิชาปรัชญา พุทธศาสนาได้เป็นหัวข้อการค้นคว้าถกเถียงและโต้แย้งกันมานานแล้ว จนปัจจุบันคำว่า พุทธปรัชญา มีการใช้กับอย่างกว้างขวาง

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนากับปรัชญา มักจะมีข้อถกเถียงกันว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือไม่อย่างไร ปัญหาเรื่องนี้สะท้อนความสับสนระหว่างหน้าที่ของ ศาสนา กับ ปรัชญา ดังที่ปรากฏในหนังสือพุทธธรรมตอนหนึ่งที่ว่าด้วย ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม ดังนี้

แสดงหลักความจริงสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือเรียกเต็มว่า “มัชเฌนธรรมเทศนา” ว่า ด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ นํามาแสดงเพื่อประโยน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นแล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้น ๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา5

คำว่า “ความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการของธรรมชาติ” เป็นคำกล่าวอ้างของศาสนาที่เชื่อว่า คำอธิบายของตนนั้นคือหลักธรรมชาติที่มีความถูกต้องชัดเจนโดยโต้แย้งไม่ได้ และทุก ๆ ศาสนามีจุดยืนอย่างนี้เหมือนกันหมด

ส่วนปรัชญานั้นไม่ใช่ศาสตร์ที่ใช้เก็งความจริง แต่เป็นความพยายามที่จะหาคำอธิบายที่เป็นไปได้ตามหลักเหตุผล ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการเก็งความจริงเพราะนักปรัชญาไม่มีใครคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องที่สุด และทุกคำอธิบายของนักปรัชญาย่อมมีเหตุผล (ดีบ้างแย่บ้างแล้วแต่กรณี) ถ้าผู้ใดให้คำอธิบายทางศาสนาที่อ่อนด้วยเหตุผล (เช่นอ้างความประสงค์ของพระเจ้าเป็นต้น) ผู้นั้นจะไม่ถูกจัดว่าเป็นนักปรัชญา (แต่ก็มีนักปรัชญาในยุคกลางจำนวนไม่น้อยที่ใช้เหตุผลในแนวนี้) แต่มักจะเรียกว่า นักเทววิทยา (theologian)

ความต่างสำคัญอยู่ตรงนี้ ในขณะที่ศาสนาพยายามผูกขาดความจริงไว้กับแนวคิดของตนโดยนำเสนอคำตอบสุดท้าย (และกันคำถามไม่ให้เกิดขึ้น) ส่วนนักปรัชญาไม่พยายามผูกขาดอะไรโดยนำเสนอคำตอบหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้และที่สำคัญคือการเสนอคำถามให้คนอื่นคิดหาคำตอบ (ที่ดีกว่า) กันต่อไป

เรื่องนี้ถ้าเราไม่ใช้เหตุผลกันอย่างจริงจังก็จะมองไม่เห็น ไม่มีใครที่จะผูกขาดความจริงของธรรมชาติได้ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้คิดว่าคำตอบที่ตนได้นั้นถูกต้องที่สุด โอกาสที่จะพัฒนาให้ถูกต้องมากขึ้นจึงมีได้เสมอ ถ้ามองอย่างนักปรัชญา การยืนยันว่าแนวคิดของตนถูกต้องตามธรรมชาติที่สุด เป็นการ “สร้างทฤษฎี” ขึ้น แล้ว “ปกป้องทฤษฎีนั้น ๆ” นั่นเอง6 จากที่กล่าวมานี้ พุทธศาสนาจึงไม่ใช่ปรัชญา แต่สามารถมีมุมมองแบบปรัชญาได้เมื่อมีการใช้เหตุผลเกิดขึ้น

ด้วยมุมมองอย่างนี้ บางครั้งบุคลากรทางศาสนาก็ไม่สบายใจที่บุคคลนอกศาสนา (บางทีก็คนในนี่เอง) มาทำวิจัยที่ได้ผลไม่ค่อยเป็นมิตรกับศาสนานัก อย่างที่ท่านป. อ. ปยุตฺโตได้ติงไว้ให้ระวังบุคคลที่สร้าง “ความสับสนระหว่างพุทธพจน์ที่แท้กับความคิดเห็นของตน โดยอ้าง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ แฝงมาในรูปที่เรียกว่า ‘งานวิจัยทางวิชาการ’”7

นี่เป็นท่าทีที่เข้าใจได้ ในเมื่อบุคลากรทางศาสนาเชื่อว่าความจริงที่ตนรู้นั้นถูกต้องที่สุด แต่อย่างไรผู้เขียนยังเชื่อว่าถ้าคุณภาพการวิจัยดีพอเราจะได้ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ แม้เราอาจจะไม่ชอบนักก็ตาม

ส่วนอีกศาสตร์หนึ่งที่มักจะนำมาเทียบกับพุทธศาสนาคือวิทยาศาสตร์ จากที่ยกมาข้างต้น ถ้าวิทยาศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาและหาคำอธิบายกระบวนการทางธรรมชาติ พุทธศาสนาก็น่าจะจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องกว้างขวางใหญ่โตที่อาจจะต้องใช้หนังสือเป็นเล่ม ๆ ในการอธิบาย ผู้เขียนจึงขอให้ข้อสังเกตเพียงสั้น ๆ

เราจะต้องรู้จักแยกแยะเลือกสรรเพราะในความเป็นจริงพุทธศาสนาโดยเนื้อหาและหน้าที่เป็นศาสนาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เพียงแต่ในคำสอนบางอย่างอาจจะเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือการปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตาที่ยั่งยืน และหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้ตรงกัน เช่น โครงสร้างของระบบจักรวาล (เช่นในจูฬนิกาสูตร ATi 8.81) การกำเนิดของโลกและมนุษย์ (ในอัคคัญญสูตร DN 27) หรือการลดลงและเพิ่มขึ้นของอายุมนุษย์ (ในจักกวัตติสูตร DN 26)

ท่าทีที่ถูกต้องในเรื่องนี้คือเราควรจะเชื่อวิทยาศาสตร์ในเรื่องความรู้ทางกายภาพ เพราะมีเหตุผลมากกว่าและการได้มาของความรู้นั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือกว่า แม้ว่าท่านจะศรัทธาในพุทธศาสนามากเพียงใด เมื่อท่านหรือคนที่ท่านรักป่วยก็ควรจะไปโรงพยาบาล ไม่ใช่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาดองน้ำมูตรเน่าหรือสวดมนต์บทโพชฌงค์ ความเห็นของดาไลลามะน่าจะพอเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ดังนี้

[I]f scientific analysis were conclusively to demonstrate certain claims in Buddhism to be false, then we must accept the findings of science and abandon those claims.8

ถ้าการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วอย่างชัดเจนว่าความเชื่อบางอย่างในพุทธศาสนานั้นไม่จริง เราก็ต้องยอมรับการค้นพบของวิทยาศาสตร์และละทิ้งความเชื่อเหล่านั้น

เชิงอรรถ

  1. อ่านเพิ่มเติมใน “Buddhism as a Model of Self-Development,” https://bhaddacak.github.io/budselfdev และ “หลักเพื่อความพ้นทุกข์” 

  2. ความเข้าเรื่องบุญมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ จาก “เครื่องชำระสันดาน” มาเป็น “คะแนนความดี” ผู้เขียนเคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการทำบุญ ผู้สนใจดูได้ที่ Buddhist Discourses in Thai Merit-Making Rituals 

  3. ข้อนี้เห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยเพราะกษัตริย์เป็นผู้พระราชทานสมณศักดิ์ และอำนาจการแต่งตั้งถอดถอนเป็นสิทธิ์ขาดของกษัตริย์ (ดูได้จากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561) อาจจะกล่าวได้ว่า พระภิกษุ (โดยเฉพาะพระสังฆาธิการต่าง ๆ) เป็นข้าราชการของกษัตริย์รูปแบบหนึ่ง และการสอบเลื่อนชั้นของพระ เป็นเหมือนการเลื่อนชั้นของข้าราชการ คำที่ว่า ยศช้างขุนนางพระ ใช่ว่าจะไร้ความหมายเลยเสียทีเดียว 

  4. เพลง สยามเมืองยิ้ม (2529) แต่งโดยครูลพ บุรีรัตน์ 

  5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม: ฉบับปรับขยาย, วัดญาณเวศกวัน, https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/583, หน้า 6 

  6. อันนี้เป็นการแย้งด้วยความเคารพ เป็นผลจากการคิดอย่างมีเหตุผลของผู้เขียน อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องปฏิบัติจากหนังสือพุทธธรรม แต่หลาย ๆ จุดที่ท่านเจ้าประคุณพยายามสร้าง “ทฤษฎี” ขึ้นแล้วให้ทุกคนยอมรับว่าคือ “ความจริง” สุดท้ายนั้น ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วย (อ่านเพิ่มเติมใน Buddhist Discourses in Thai Merit-Making Rituals) เรื่องนี้เป็นธรรมชาติทางวิชาการซึ่งเป็นกิจกรรมทางพุทธิปัญญาอย่างหนึ่งที่ความเห็นต่าง ๆ อาจจะไม่ตรงกันเพราะแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือความจริงใจ ชัดเจนและตรงไปตรงมาในการแสดงออก 

  7. ป. อ. ปยุตฺโต, 2546, พระไตรปิฎก: สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้, ฉบับพิมพ์สองภาษา, วัดญาณเวศกวัน, หน้า 68 

  8. Dalai Lama, 2005, The Universe in a Single Atom: The Convergence of Science and Spirituality. Morgan Road Books, pp. 2–3.