การคิดอย่างมีเหตุผล
สารบัญ
- นิยาม
- คู่มือการคิดอย่างมีเหตุผลฉบับเร่งด่วน
- 1. ยอมรับความโง่ของตัวเอง
- 2. ตรงไปตรงมา
- 3. ใส่ใจมุมมองของคนอื่น
- 4. มีเป้าหมายชัดเจน
- 5. อย่าไหลตามน้ำ คิดด้วยตัวเอง
- 6. คิดให้ชัดเจน
- 7. ตรงประเด็น
- 8. มีเหตุมีผล
- 9. ถามคำถามเชิงลึก
- 10. แยกให้ออกระหว่างการถามข้อเท็จจริง ความชอบ และการตัดสินใจ
- 11. มองให้ทะลุนัยยะที่แฝงอยู่และผลที่จะตามมา
- 12. เข้าใจการอนุมานกับข้อสันนิษฐาน
- 13. อย่าโดนลวงด้วยภาษา
- สรุป
- เชิงอรรถ
เนื่องจากการคิดอย่างมีเหตุผลหรือ critical thinking มีเนื้อหาสาระที่ต้องเรียนรู้มาก และผู้ที่ผ่านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาถูกคาดหวังว่าจะจบไปพร้อมด้วยทักษะอันนี้ นั่นคือในทางทฤษฎีเราควรจะมีความสามารถที่จะคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้นเมื่อเรามีการศึกษาที่สูงขึ้น แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เราพบอยู่บ่อยครั้งว่าแม้กระทั่งผู้ที่จบปริญญาเอกกลับมีความเชื่อที่งมงายในบางเรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลจึงมีความสำคัญเร่งด่วนต่อคนทุกคนในสังคม ประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้วล้วนมีประชาชนที่รู้จักและให้ความสำคัญต่อการคิดอย่างมีเหตุผลทั้งสิ้น
การสอนให้บุคคลคิดอย่างมีเหตุผลเป็นเรื่องยากเพราะตัวบุคคลเองจะต้องเห็นความบกพร่องของการใช้เหตุผลของตนและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่มากนักในสังคม ผู้เขียนจึงหวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายให้ทุกท่านที่สนใจเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้
นิยาม
เราจะเริ่มด้วยคำนิยามเชิงวิชาการที่ใช้กันมากที่สุดโดย Robert Ennis ดังนี้
Critical thinking is reasonable, reflective thinking that is focused on deciding what to believe or do.1
การคิดอย่างมีเหตุผล คือ การคิดที่ต้องตรึกตรอง (reflective) มีเหตุมีผล (reasonable) โดยมีเป้าหมายที่จะตัดสินใจว่าสิ่งใดควรเชื่อหรือควรทำ
คำจำกัดความข้างต้นนั้น สั้น ตรงไปตรงมาและชัดเจน ครอบคลุมหัวใจของการคิดอย่างมีเหตุผลไว้อย่างครบถ้วน (อย่างน้อยก็ครบถ้วนในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา) กล่าวคือ การคิดอย่างมีเหตุผลจะต้องผ่านการตรึกตรองอย่างถ้วนถี่ ไม่ได้ปล่อยไปตามความคุ้นชินเดิม ๆ หรือตามแต่คนหมู่มากจะนำพาไป อีกทั้งการคิดนั้นจะต้องมีเหตุมีผล มีที่มาที่ไป ไม่วิปริตทางตรรกะ และอ้างอิงข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ ผลที่ได้จากการคิดดังกล่าวจะเป็นตัวตัดสินว่าสิ่งใดควรจะรับมาเป็นความเชื่อหรือการปฏิบัติของตน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ จากประเด็นที่ว่า เราควรจะเชื่อว่าโลกใบนี้กลมหรือแบน? ถ้าไม่มีใครบอกเรา เราก็มักจะเชื่อตามสิ่งที่เราเห็น นั่นคือ เด็ก ๆ ที่ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมักจะเชื่อว่าโลกเรานี้เป็นแผ่นดินผืนใหญ่ที่แบนราบ เพราะมันปรากฏต่อสายตาอย่างนั้น แม้นักคิดคนสำคัญในอดีตก็เชื่ออย่างนั้น อย่างเช่น Thales (c. 600 BC) นักปรัชญาชาวกรีกเชื่อว่าโลกคือแผ่นดินแบนกว้างลอยอยู่บนน้ำ พระพุทธเจ้า (c. 500 BC) ก็น่าจะเชื่อว่าโลกแบนโดยมีศูนย์กลางเป็นภูเขาใหญ่ (สุเมรุ/สิเนรุ) ดังคำบรรยายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์
ต่อเมื่อนักคิดพัฒนาความมีเหตุผลมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าโลกนี้น่าจะมีสัญฐานกลมก็มีน้ำหนักมากขึ้น เหตุผลที่คิดได้ง่าย ๆ ก็มีเช่น ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้นกลม โลกก็น่าจะเป็นเช่นกัน หรือพื้นน้ำมหาสมุทรที่ปรากฏต่อสายตามีลักษณะโค้งลงไม่ได้เป็นเส้นตรง ส่วนนักวิทยาศาสตร์นักดาราศาสตร์มีความคิดที่เป็นระบบกว่า สามารถสรุปได้ว่าโลกกลมและหมุนรอบตัวเองด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันที่โต้แย้งไม่ได้เมื่อเราสามารถถ่ายภาพโลกของเราเองจากอวกาศ
เมื่อเราพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ข้อที่ว่าโลกนี้กลมจึงมีเหตุผลมากกว่า และเราควรเชื่ออย่างนั้น นี่เป็นผลมาจากการคิดอย่างมีเหตุผล คือเราเชื่อในอำนาจของความเป็นเหตุเป็นผลที่สะท้อนภาพความจริงได้ตรงกว่า เราไม่ได้เชื่อง่าย ๆ ในสิ่งที่เราเห็น หรือเชื่อตามบุคคลที่สังคมยกย่องเชื่อถือ หรือเชื่อตามคัมภีร์โบราณ เราจะเชื่อต่อเมื่อมีหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อ นี้คือหัวใจของการคิดอย่างมี้หตุผล
ความจริงทางกายภาพอย่างโลกแบนโลกกลมนั้นเรียกว่าง่ายต่อการหาข้อยุติ น้อยคนนักที่จะดื้อดึงยืนยันว่าโลกแบนอยู่2 ส่วนการหาความจริงในด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง จนถึงศาสนานั้นยากกว่ามาก บางครั้งเราไม่อาจจะหาคำตอบได้เด็ดขาดแน่นอน บ่อยครั้งปัญหาในมิติเหล่านี้จึงมีช่องว่างให้เกิดการโต้แย้ง การคิดอย่างมีเหตุผลจึงยิ่งมีความจำเป็นในการหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงทางศาสนาที่เป็นเป้าหมายหลักของโครงการนี้
คู่มือการคิดอย่างมีเหตุผลฉบับเร่งด่วน
การศึกษาเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผลที่เป็นระบบนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไป ผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยสามารถเรียนรู้ได้ในวิชา critical thinking หรือวิชาตรรกศาสตร์ (logic) ถ้าจะเอากันจริงจังก็มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมาย เช่น การใช้เหตุผลแบบนิรนัย แบบอุปนัย แบบเงื่อนไข และอื่น ๆ การใช้เหตุผลที่ผิดพลาด (fallacies) ในปัจจุบันน่าจะรวมพื้นฐานจิตวิทยาแห่งการรู้คิด (cognitive psychology) ไปด้วย เรื่องเหล่านี้มากและยากเกินไปที่จะพูดถึงในที่นี้
สำหรับบุคคลทั่วไปผู้เขียนขอเสนอหลักสูตรเร่งด่วนให้ทุกท่านได้รู้จักการพัฒนาทักษะการคิดเป็นเบื้องต้น พอที่จะต่อสู้กับโลกที่ไร้เหตุผลในปัจจุบันได้ หลักสูตรนี้เรียกว่า พัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผลใน 13 ขั้นตอน3
1. ยอมรับความโง่ของตัวเอง
ข้อแรกนี้อาจจะยากหน่อย แต่จำเป็นจริง ๆ สำหรับการพัฒนา ถ้าเราไม่เห็นหรือไม่อาจยอมรับว่าตัวเองโง่4 เราก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาให้ฉลาดขึ้น เราต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่รวมทั้งเราด้วยมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งบนฐานของอคติ ความลำเอียง หรือความจริงเพียงครึ่งเดียว และบางครั้งบนความงมงายไร้เหตุผล
การยอมรับความโง่ของตัวเองไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการอ่อนโน้มถ่อมตนทางความรู้ เพราะความจริงแล้วเราไม่ได้รู้อะไรทุกเรื่อง และคนที่รู้จริงมากกว่าเรามีอยู่มากมาย การยอมรับในความไม่รู้จะเปิดทางให้การแสวงความรู้ที่ดีกว่าเกิดขึ้น
ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ Socrates (470–399 BC) นักปรัชญาชาวกรีก โซเครติสชอบไปที่ตลาดเพื่อคุยกับบุคคลต่าง ๆ ที่อ้างว่าตัวเองเป็นผู้รู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อคุยไป ๆ เขากลับพบว่าจริง ๆ แล้วคนที่คิดว่าตัวเองรู้นั้นไม่ได้รู้อะไรดีกว่าเขาเลย ในสมัยนั้นคนในกรุงเอเธนส์ถือว่าโซเครติสฉลาดที่สุด เพราะเขารู้และยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้
การเยียวยาในข้อนี้คือเราต้องหมั่นตรวจสอบความเชื่อของตัวเอง สังเกตว่าสิ่งที่เราเชื่อนี้มากจากไหน อะไรคือหลักฐาน อะไรคือข้อพิสูจน์ เราต้องรู้ในข้อจำกัดและความไม่เป็นกลางของแหล่งที่มา รู้ว่าใครหรืออะไรคือต้นตอของความเชื่อนี้ เขามีความน่าเชื่อถือขนาดไหน ข้อมูลที่ใช้มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน มีส่วนไหนที่ถูกละเลย มีส่วนไหนที่ถูกบิดเบือน
2. ตรงไปตรงมา
ข้อนี้มากจากคำภาษาอังกฤษว่า integrity เป็นความซื่อสัตย์และยึดมั่นในหลักจริยธรรม ข้อนี้มีหลักปฏิบัติที่จำง่าย ๆ คือ ทำในสิ่งตัวเองพูด และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ ความตรงไปตรงมามีความสำคัญในการเยียวยาภาวะตีสองหน้า (hypocrisy) ของเรา ข้อนี้เหมือนข้อแรกคือทำจริง ๆ ไม่ง่ายนัก
ตรงไปตรงมา = ทำในสิ่งตัวเองพูด และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ
Only to the extent that our beliefs and actions are consistent, only when we say what we mean and mean what we say, do we have intellectual integrity.5
เราจะมีความซื่อตรงทางสติปัญญาก็ต่อเมื่อความเชื่อและการกระทำของเรานั้นสอดคล้องกัน กล่าวคือเมื่อเราพูดในสิ่งที่เราตั้งใจหมายถึง และตั้งใจหมายถึงในสิ่งที่เราพูด
เหตุผลที่ความตรงไปตรงมาทำได้ยากเพราะภาวะตีสองหน้าเป็นพื้นฐานโดยธรรมชาติของเราทุกคน มีอย่างน้อย 3 ทางดังนี้
- เรามักจะประเมินคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราด้วยมาตรฐานที่สูงกว่ากับการที่เราประเมินตัวเองหรือคนที่เราคุ้ยเคย เรียกได้ว่าเรามีสองมาตรฐานโดยธรรมชาติ ตัวอย่างเช่นเรามักจะมองคนต่างศาสนาว่าโหดร้ายเห็นแก่ตัว ในขณะที่มองชาวพุทธกันเองว่าโอบอ้อมอารี
- เรามักจะทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราบอกว่าเชื่อ เช่นเราบอกว่าเชื่อในความจริงแต่ก็แอบโกหกในบางครั้ง
- เรามักจะมองไม่เห็นพฤติกรรมที่ขัดแย้งของกลุ่มคนที่เหมือนกับเรา เช่นเรามักมองไม่เห็นว่ากลุ่มคนที่เราสมาคมด้วยมีความเห็นแก่ตัวเหมือน ๆ กับคนกลุ่มอื่น ๆ
ภาวะตีสองหน้ามักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ยากที่จะสังเกตเห็นโดยตัวเอง เพราะเรามักจะมีกลไกอ้างเหตุผลรองรับการกระทำของตนเอง แต่คนอื่นจะเห็นชัดในความไม่คงเส้นคงวาของเรา รวมถึงความขัดแย้งในสิ่งที่เราพูดกับสิ่งที่เราทำ
เรามักจะเกลียดคนพูดโกหกและเห็นแก่ตัว เวลาคนอื่นโกหกเราจะว่าเขาทำไม่ดี เห็นแก่ตัว แต่พอเราเองโกหกเรากลับบอกว่าที่ทำเพราะความจำเป็นหรือไม่มีทางเลือก เราคาดหวังจะให้คนอื่นมีมาตรฐานทางศีลธรรมสูง แต่กับตัวเราเองเรากลับใช้มาตรฐานที่ต่ำกว่า เรามักอยากคบเพื่อนที่ดีเพราะการคบคนดีย่อมได้ประโยชน์มากกว่า แต่เราไม่อยากทำตัวเองให้ดีขนาดนั้น เพราะเป็นคนดีจะต้องเสียสละ ลำบากและเจ็บปวดในบางครั้ง
การเยียวยาภาวะตีสองหน้าของเราทำได้โดยหมั่นสำรวจความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เราเชื่อกับสิ่งที่เราทำ และเผชิญหน้ากับความน่ารังเกียจนั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่หาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น
เมื่อเราสามารถเผชิญหน้ากับภาวะตีสองหน้าของเราได้แล้ว เราจะเริ่มก้าวข้ามมันได้ เราจะรู้ว่าเราไม่สามารถควบคุมมันได้อย่างสมบูรณ์เด็ดขาด และเมื่อเรามองไปที่คนอื่น ๆ เราก็จะพบว่าเขาเหล่านั้นก็มีสภาพไม่ต่างอะไรจากเรา ทำอย่างนี้เราจะเห็นตัวเราในความเป็นจริงมากขึ้น และเราจะตรงไปตรงมามากขึ้น (อาจจะไม่ที่สุด แต่มากขึ้น)
3. ใส่ใจมุมมองของคนอื่น
คนเรามักจะคิดว่าสิ่งที่เราเชื่อเราทำนั้นถูกที่สุด โดยมองคนที่คิดต่างว่าผิดหรือไม่เข้าท่า ในข้อนี้เราต้องรู้จักมองปัญหาจากมุมของคนอื่นด้วย เพราะเราต่างคนต่างก็มีโอกาสผิดพลาดกันทั้งนั้น เราจะต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีบริบทที่ต่างกัน การตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ย่อมต่างกัน เมื่อมีคนคิดต่าง แทนที่จะมองว่าเขาผิด เราควรจะลองคิดในมุมของเขาบ้าง บางครั้งเราอาจจะเกิดมุมมองและความรู้ใหม่ ๆ ก็ได้
ข้อนี้สำคัญเพราะว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ความคิดของเราพัฒนา เมื่อเราไม่ปิดกั้นความคิดที่แตกต่าง เราจะมีโอกาสค้นพบความคิดที่ดีกว่าหรือถูกต้องกว่าความคิดเดิมของเรา
นอกจากนี้การใส่ใจมุมมองของคนอื่นยังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น บางครั้งเราตัดสินไปเองว่าคนอื่นนั้นคิดผิด โดยไม่ได้เข้าใจเขาจริง ๆ สิ่งที่ควรทำคือ แสดงการใส่ใจและถามหาความชัดเจนว่าสิ่งที่คนนั้นคิดหรือทำมีความหมายที่แท้จริงหรือแรงจูงใจอย่างไร
4. มีเป้าหมายชัดเจน
รู้ให้ชัดว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อะไรคือเป้าหมายของการรับแนวคิดหรือแนวปฏิบัติบางอย่างเข้ามา ข้อนี้สำคัญเพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเรากำลังไปจะไหน การกระทำต่าง ๆ ย่อมไร้ความหมาย
สิ่งที่ทำให้ข้อนี้ทำได้ยากในบางครั้งคือ เรามักจะมีเป้าหมายที่ไม่เปิดเผย ตัวอย่างเช่น เราอาจจะแสดงออกชัดเจนว่าเราต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบ แต่ลึก ๆ แล้วเราต้องการจะหาเพื่อนหรือคนที่มีความสนใจเหมือน ๆ กัน
ข้อปฏิบัติสำคัญในเรื่องนี้คือ เราต้องสำรวจความต้องการของตนให้ชัดเจน มันอาจจะมีหลายชั้นซ้อนกัน แต่เราต้องรู้ให้ชัดว่ามีอะไรบ้าง และจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง หมั่นสังเกตว่าการกระทำอันหนึ่ง ๆ มีแรงจูงใจมาจากความต้องการใด ทำอย่างนี้โอกาสที่จะทำผิดเป้าหมายก็น้อยลง เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากเราทำในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการจริง ๆ
เมื่อเข้าใจความต้องการของตัวเองแล้ว เราก็จะเข้าใจคนอื่นด้วย เพราะเขาเองก็อาจจะมีความต้องการที่ไม่เปิดเผยเช่นกัน การสังเกตพฤติกรรมคนอื่นจะทำให้เราเห็นความต่างระหว่างสิ่งที่เขาต้องการกับสิ่งที่เขาทำ นั่นอาจจะแสดงให้เห็นเป้าหมายที่ถูกซ่อนอยู่ก็ได้
5. อย่าไหลตามน้ำ คิดด้วยตัวเอง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อเกิดมาเราจะต้องเป็นสมาชิกของสังคมใดสังคมหนึ่ง และเมื่อเราเติบโตขึ้นเราก็จะเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือองค์กรต่าง ๆ อีกมากมาย ในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมย่อย ๆ เหล่านี้จะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เราต้องยอมรับและปฏิบัติตาม รวมทั้งความเชื่อพื้นฐาน พฤติกรรมที่เหมาะสม และข้อห้ามต่าง ๆ เป็นธรรมชาติของคนที่อยู่ในสังคมหรือในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่จะยอมรับสิ่งที่วางไว้เหล่านี้โดยไม่คิดโต้แย้ง เพราะนั่นอาจจะเป็นอันตรายต่อสมาชิกภาพของตนในสังคมนั้น ๆ
มองเผิน ๆ แล้วการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของสังคมเป็นผลดีต่อบุคคลเอง และเราทุกคนก็ควรจะทำไปตามนั้น แต่สิ่งที่ได้วางไว้ใช่ว่าจะดีทุกอย่างเสมอไป หรือยังคงเป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมในทุกยุคทุกสมัย ปัญหาข้อนี้ไม่ได้อยู่ที่กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทุกคนในสังคมจะต้องยอมรับ แต่อยู่ที่ความยุติธรรมและเท่าเทียม นี่เป็นปัญหาทางสังคมที่พบเห็นได้ทุกที่ทุกเวลา
การปฏิบัติในข้อนี้ทำได้ยากมาก แต่สำหรับคนที่คิดอย่างมีเหตุผลแล้ว เราจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ คือเราจะต้องเชื่อในเหตุผลมากกว่าความเชื่อที่ไร้เหตุผลของกลุ่ม เพราะมีบ่อยครั้งที่ค่านิยมทางสังคมบางอย่างนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม การอ้างผลประโยชน์ของคนหมู่มากบางครั้งเป็นเพียงการใช้วาทศิลป์โน้มน้าวและบิดเบือน (พบมากในวาทะของนักการเมือง) แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดกลับเป็นคนเพียงไม่กี่คน
6. คิดให้ชัดเจน
ความคลุมเครือเป็นศัตรูสำคัญของความมีเหตุผล เวลาจะคิดเกี่ยวกับสิ่งใดเราต้องทำสิ่งนั้นให้กระจ่าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ ๆ ว่า ทำดีไม่ได้ดี ถ้าพิจารณาให้ดีคำพูดนี้มีความคลุมเครือ เพราะดูเหมือน ‘ดี’ แรกกับ ‘ดี’ หลังจะมีความหมายต่างกัน ถ้ามันเหมือนกันปัญหาจะไม่เกิดขึ้น เช่นถ้าเราทำม้านั่งสิ่งที่ได้ก็ต้องเป็นม้านั่ง ปัญหาที่ว่า ทำม้านั่งไม่ได้ม้านั่ง นั้นไม่มี (บางคนทำม้านั่งแต่กลับได้โต๊ะกินข้าว ความจริงต้องบอกว่าเขาทำโต๊ะกินข้าวจึงได้โต๊ะกินข้าว แต่อาจจะเริ่มความตั้งใจที่ม้านั่งก่อน) ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราชัดเจนในความดีที่เราทำ เมื่อทำเสร็จเราย่อมได้ทำความดีนั้นแล้ว ส่วนผลที่ตามมานั้นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวใว้ชัดเจนในเรื่องนี้
ทำดีได้ดีแน่, เพราะมันดีอยู่ที่ตัวการกระทำนั่นเอง, และมันดีเสร็จแล้วตั้งแต่เมื่อทำ. แต่ที่มันจะได้เงินหรืออื่น ๆ ด้วยหรือไม่ นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่ง.6
ความชัดเจนมีความสำคัญมากต่อการคิดอย่างมีเหตุผล ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่กำลังพูดถึงให้กระจ่าง จะพบว่าในความจริงเราพูดกันคนละเรื่อง การถกเถียงในอาการแบบนี้ไร้ประโยชน์และเสียเวลาเปล่า ดังนั้นเวลาจะพูดอะไรกับใคร ควรทำสิ่งที่หมายถึงให้ชัดเจน และเมื่อเราสงสัยในคำที่คนอื่นใช้ ก็ควรสอบถามให้แน่นอนว่าจริง ๆ แล้วเขาหมายถึงอะไร
7. ตรงประเด็น
ความชัดเจนในสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นสำคัญแต่ไม่เพียงพอ เราจะต้องรู้อีกด้วยว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไรกับเรื่องที่กำลังพูดอยู่ ขอยกตัวอย่างที่คนมักจะไม่คิดถึง บางคนชอบพูดว่า ถ้ากฎแห่งกรรมไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี คนก็จะทำชั่วกันหมด ในประโยคนี้มีคำสำคัญ 3 คำคือ กฎแห่งกรรม นรกสวรรค์ และทำชั่ว ในความสอนของพุทธศาสนาสามคำนี้มีความชัดเจนอยู่ในตัว แต่มันไม่ได้มีความสัมพันธ์ดังที่กล่าวมา
กฎแห่งกรรมนั่นเรื่องหนึ่ง นรกสรรค์นั่นอีกเรื่องหนึ่ง การทำดีทำชั่วนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งสามเรื่องอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ กล่าวคือ เราสามารถทำดีได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อ (สวรรค์) หรือคำขู่ (นรก) หรือกฎที่กำหนดขึ้น7 ดังนั้นการอ้างเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ตรงประเด็น
ถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นในเรื่องการทำดีทำชั่ว จะต้องบอกว่าคนทำชั่วเพราะมีกิเลสอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ถ้าเราส่งเสริมให้คนมีโลภโกรธหลง คนก็จะทำชั่วกันทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา (ดูเหมือนว่าสถานการณ์จริง ๆ ก็กำลังเป็นเช่นนั้น)
8. มีเหตุมีผล
ข้อนี้เป็นหัวใจสำคัญของการคิดอย่างมีเหตุผล นั่นคือเราต้องรู้ว่าความมีเหตุมีผลนั้นคืออย่างไร ผู้ที่ศึกษาตรรกศาสตร์มาอาจจะได้เปรียบในข้อนี้ เพราะได้รู้ว่าอะไรคือการอ้างเหตุผลที่ดี อะไรคือความไร้เหตุผล8 สำหรับคนทั่วไปผู้เขียนคิดว่าความมีเหตุมีผลในระดับสามัญสำนึกน่าจะเพียงพอในสถานการณ์ส่วนใหญ่
ที่สำคัญเราจะต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเมื่อเราคิดผิด และพร้อมที่จะศึกษาเพิ่มเติมและแก้ไขความคิดให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบในเรื่องการคิด แม้แต่นักคิดคนสำคัญของโลกก็ยังเคยคิดผิด9 สิ่งที่สำคัญคือเราต้องพยายามที่จะทำให้ผิดกลับเป็นถูก หรืออย่างน้อยก็ผิดน้อยลง
9. ถามคำถามเชิงลึก
คำถามเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดหาเหตุผล คำถามตื้น ๆ ได้คำตอบตื้น ๆ เช่น พระพุทธเจ้าออกบวชเมื่อใด? (อายุ 29) ถามลึกเข้าไป ก็ได้คำตอบลึกเข้า เช่น ทำไมพระพุทธเจ้าจึงออกบวช? (เทวทูตหรือนิมิตทั้งสี่ปรากฏ) สำหรับการคิดอย่างมีเหตุผลความสงสัยในเชิงลึกย่อมนำไปสู่ความเข้าใจในเชิงลึก นั่นคือเราควรจะมองปัญหาต่าง ๆ ให้ลึกซึ้ง หลาย ๆ ด้าน และพยายามตั้งคำถามที่เจาะเข้าไปจนถึงแก่นของปัญหา
ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้อย่างไรที่พระพุทธเจ้าจะไม่เคยเห็นนิมิตทั้งสี่ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ) ก่อนหน้านั้น? สมณะที่ว่านี่คือนักบวชในสำนักใด? ลึกลงไปอีก ทำไมแค่เห็นคนแก่คนเจ็บคนตายจึงเป็นแรงจูงใจให้ออกบวชได้?10 เราก็เห็นกันทุกวันทำไมจึงไม่บวช? เป็นไปได้ไหมที่เจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้มีความสุขในขณะนั้น (อาจจะทะเลาะกับชายาหรือบิดามารดาหรือเบื่อหน่ายสภาพแวดล้อม—เหตุผลใหญ่ข้อหนึ่งของคนบวชสมัยนี้) จึงคิดออกบวช? ถ้าท่านมีจินตนาการก็อาจจะคิดอะไรต่อไปได้อีกมากมาย การถามคำถามเชิงลึกอาจจะไม่ได้คำตอบเสมอไป แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้คิดถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการสอนพุทธศาสนาในแนวขนบจะไม่ส่งเสริมให้ผู้ศึกษาตั้งคำถามแบบนี้ แม้แต่ผู้ปกครองเองก็ไม่ชอบให้ประชาชนตั้งคำถาม เพราะพลเมืองในอุดมคติของผู้ปกครองคือคนที่เชื่อฟังไม่ช่างสงสัย ถ้าเราเชื่อว่าพุทธศาสนาคือของจริง ทนต่อการพิสูจน์ ไม่ว่าจะตั้งคำถามอย่างไร คำตอบที่ได้ก็ไม่ควรหลุดออกจากแนวความจริง
10. แยกให้ออกระหว่างการถามข้อเท็จจริง ความชอบ และการตัดสินใจ
เวลาเราเผชิญกับคำถามเราจะต้องแยกประเภทของคำถามให้ออก มิฉะนั้นเราจะสับสนในการหาคำตอบ โดยทั่วไปคำถามสามารถแบ่งได้ 3 อย่างคือ
- ถามหาข้อเท็จจริง เป็นการหาคำตอบภายในระบบในระบบหนึ่ง คำถามประเภทนี้ต้องการข้อพิสูจน์และการคิดหาเหตุผลภายใต้กฎเกณฑ์ของระบบนั้น ๆ คำตอบที่ได้มักจะมีที่ถูกต้องที่สุดอันหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การหาคำตอบของโจทย์คณิตศาสตร์ ผลที่ได้ของคำถามแบบนี้คือ ความรู้
- ถามหาความชอบ เป็นการหาคำตอบที่ไม่อิงกับระบบใด เป็นการถามเพื่อให้ระบุความชอบส่วนบุคคลหรือเป็นความเห็นเชิงอัตวิสัย (subjective) คำตอบที่ได้ไม่มีถูกไม่มีผิด เพราะไม่มีเกณฑ์จากระบบจะตัดสิน ตัวอย่างเช่น ถามว่า “ชอบไปเที่ยวภูเขาหรือทะเล?” หรือ “วงดนตรีที่ชอบคือวงใด?”
- ถามเพื่อตัดสินใจ เป็นการหาคำตอบที่เกี่ยวพันกับหลายระบบ จึงต้องการการคิดหาเหตุผลจากหลายระบบ ซึ่งผลที่ได้ย่อมขัดแย้งกันเพราะแต่ละระบบมีเกณฑ์ในการตัดสินแตกต่างกัน คำตอบที่ได้มีหลายคำตอบ ไม่มีถูกกับผิด แต่จะมีดีกว่ากับแย่กว่า ตัวอย่างเช่น “เราควรยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่?” หรือ “ระบอบการปกครองที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันคืออะไร?” การหาคำตอบประเภทนี้ยุ่งยากที่สุด เพราะเราต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้านหลายมิติ และเราไม่อาจจะทำให้ทุก ๆ ฝ่ายพอใจ และเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องการประเมินมักจะไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา
ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่างคำถามสามประเภทนี้ ผลที่ได้คือความสับสนและหลงประเด็น ทางที่ดีเราควรจะถามผู้ตั้งคำถามให้ชัดเจนว่าที่ถามนั้นต้องการอะไร เช่น ถ้ามีคนถามว่า “การทำแท้งผิดหรือไม่?” เราควรจะทำให้แน่ใจก่อนว่าเป็นการถามเพื่อหาคำตอบในระบบใดระบบหนึ่งหรือไม่ ถ้าเป็นการถามว่าจากมุมมองของพุทธศาสนาการทำแท้งผิดหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ผิด
แต่ถ้านั่นเป็นการถามหาความเห็นส่วนบุคคล เราก็สามารถตอบได้โดยไม่อิงกับระบบใด แต่ควรจะระบุให้ชัดว่า นี่คือความเห็นหรือความชอบใจของเรา และถ้าการถามเป็นการอภิปรายที่ต้องโยงการอ้างเหตุผลจากหลาย ๆ ระบบ เราก็ควรจะระบุให้ชัดว่าคำตอบที่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของระบบใด เช่น เรื่องทำแท้งอาจจะเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของสตรีด้วย คือผู้ตั้งท้องควรจะมีสิทธิ์ในร่างกายและความมีสุขภาพสมบูรณ์ของตน
11. มองให้ทะลุนัยยะที่แฝงอยู่และผลที่จะตามมา
ข้อนี้เป็นเครื่องวัดที่ดีของความมีทักษะในการคิด เวลาเราพบคำถามอย่างใดอย่างหนึ่ง เราควรจะมองถึงนัยยะที่แฝงอยูในคำถามนั้นด้วย รวมทั้งผลกระทบที่ตามมาในการถามนั้น การตีนัยยะของคำถามออกจะช่วยให้เราแยกประเภทคำถามได้ถูกต้องขึ้นและช่วยไม่ให้เราหลงประเด็นหรือถูกควบคุมโดยผู้ตั้งคำถาม การฝึกวิเคราะห์การตั้งคำถามของสื่อมวลชนจะช่วยพัฒนาทักษะข้อนี้ได้มาก
ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่ไม่กระทบกับใคร เมื่อคนที่เราอยู่ด้วยถามเสียงดังว่า “ทำไมจานถึงยังไม่ได้ล้าง?” จากนัยยะของคำถามเราสรุปได้ว่า
- จากมุมมองของผู้ถาม เรามีหน้าที่ล้างจานและเราควรล้างให้เสร็จก่อนหน้านั้นแต่เราไม่ได้ทำ
- ผู้ถามมีความโกรธหรืออย่าน้อยก็หงุดหงิดและผิดหวัง
- นั่นอาจจะไม่ใช่คำถามจริง ๆ แต่เป็นการขอให้เราไปทำหน้าที่ให้เสร็จ
- ผลที่ตามมาของคำถามคือทำให้เรารู้ว่า ในวันข้างหน้าเราควรจะล้างจานให้เสร็จก่อนที่ผู้ถามนั้นจะมาพบ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาโกรธอีก
12. เข้าใจการอนุมานกับข้อสันนิษฐาน
การจะเข้าใจเรื่องราวใด ๆ ได้ชัดเจน เราจะต้องเข้าใจการอนุมานกับข้อสันนิษฐานให้ชัดก่อน เรื่องนี้มีความสำคัญต่อคุณภาพของการประเมินความเป็นเหตุเป็นผล แต่อาจจะต้องออกแรงศึกษาทำความเข้าใจให้ดี
- การอนุมาน (inference) เป็นขั้นตอนการทำงานของจิต เป็นการสรุปค่าความจริงจากข้อมูลที่ได้รับ เช่น “วันนี้ฟ้ามืดครึ้ม ฝนน่าจะตก” ข้อสรุปที่ว่าฝนจะตก มาจากข้อมูลที่ว่าวันนี้ฟ้าครึ้ม นี่เป็นการอนุมานอย่างหนึ่ง เมื่อมีข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาจิตก็จะอนุมานอย่างนี้ตลอดทั้งวัน รวมทั้งวิธีการต่าง ๆ ที่เราเรียนในวิชาตรรกศาสตร์ก็ล้วนแต่เป็นการอนุมานทั้งสิ้น แต่เป็นการใช้เหตุผลที่มีระบบมากกว่าการอนุมานในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่าผลที่ได้จากการอนุมานมีทั้ง มีเหตุผล (justified) และ ไร้เหตุผล (unjustified)11
- ข้อสันนิษฐาน (assumption) คือความเชื่อต่าง ๆ ที่เราถือเอาว่าจริง ข้อสันนิษฐานเป็นฐานของการอนุมาน ข้อสันนิษฐานที่มีเหตุผลนำไปสู่การอนุมานที่มีเหตุผล ข้อสันนิษฐานเกิดได้จากหลายที่มา อาจเป็นการอนุมานที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วถูกเก็บไว้ในฐานความรู้ของเราก็ได้ หรืออาจจะเกิดจากการได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้มา และอาจเกิดจากการคิดเดาเอาเอง (หรือการอนุมานที่อ่อนเหตุผล) โดยทั่วไปข้อสันนิษฐานจะทำงานโดยอัตโนมัตินอกเหนือการควบคุมของจิตสำนึก12 เมื่อวิเคราะห์ที่มาของข้อสันนิษฐานให้ดี มีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะพบอคติ ความลำเอียง และความคิดที่เกิดอย่างไร้เหตุผลอยู่ในนั้น โดยเฉพาะข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้เกิดจากการอนุมานที่มีเหตุผลตั้งแต่แรก
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการอนุมานกับข้อสันนิษฐานสัมพันธ์กันแบบลูกโซ่ การอนุมานอาศัยข้อสันนิษฐาน ส่วนข้อสันนิษฐานบางอย่างก็เกิดจากการอนุมานก่อนหน้านั้น หมายความว่าการมีข้อสันนิษฐานที่มีเหตุมีผลเก็บไว้ในฐานความรู้ จะช่วยให้การอนุมานของเรามีเหตุมีผลมากขึ้น ฉะนั้นเราควรจะตรวจสอบข้อสันนิษฐานที่เราใช้อยู่เสมอว่ามีความรัดกุมมากน้อยเพียงใด
จากตัวอย่างที่ยกไว้ข้างบน การอนุมานคือ ฝนจะตก จากข้อมูลที่ว่า ฟ้ามืดครึ้ม และข้อสันนิษฐานคือ เมื่อใดที่ฟ้ามืดครึ้มฝนมักจะตก จะเห็นว่า ข้อสันนิษฐานนี้มีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์13 ดังนั้นการอนุมานของเราเรียกได้ว่ามีเหตุผล (แต่ฝนจะตกจริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย)
ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเห็นปัญหาของการอนุมานและข้อสันนิษฐาน “พระไตรปิฎกเป็นบันทึกความจริง เพราะเป็นคำกล่าวของพระพุทธเจ้าโดยตรง” นี่เป็นการอนุมานจากข้อสันนิษฐานที่ว่า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้ากล่าวสิ่งนั้นเป็นความจริง ร่วมกับ คำกล่าวของพระพุทธเจ้าได้ถูกบันทึกไว้ และ สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ได้ตกทอดมาถึงเราเป็นพระไตรปิฎก สรุปผลของการอนุมานได้ว่า พระไตรปิฎกเป็นบันทึกความจริง
การอนุมานนี้ดูจะไม่มีปัญหาอะไรเพราะชาวพุทธถือเช่นนี้มานาน แต่เมื่อเราพิจารณาข้อสันนิษฐานที่ใช้ทีละข้อจะได้ความดังนี้
- สิ่งใดที่พระพุทธเจ้ากล่าวสิ่งนั้นเป็นความจริง เป็นคำกล่าวที่อ้างอยู่ในพระไตรปิฎกเอง การใช้ข้อสันนิษฐานนี้รองรับการอนุมานจึงเป็นการทวนคำถาม (begging the question) คือไม่ได้สนับสนุนความมีเหตุผล (อันที่จริงคำกล่าวของพระพุทธเจ้าจำนวนไม่น้อยในพระไตรปิฎกไม่ได้เป็นความจริงตามมาตรฐานปัจจุบัน)
- คำกล่าวของพระพุทธเจ้าได้ถูกบันทึกไว้ ข้อนี้มองได้ว่าเกิดจากการอนุมาน เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าสอนสาวก คำสอนก็ถูกจดจำและส่งต่อกันมาจนได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อนี้ถือว่ามีเหตุผลพอประมาณ เพราะสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ไม่ได้เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรงแต่เป็นการเรียบเรียงใหม่โดยผู้บันทึก
- สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ได้ตกทอดมาถึงเราเป็นพระไตรปิฎก อันนี้อาจจะมองว่าเป็นความเชื่อที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าที่มาน่าเชื่อถือข้อนี้ก็น่าเชื่อถือ หรืออาจะมองว่าเป็นการอนุมานถ้าเราศึกษาเรื่องนี้โดยการวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ความมีเหตุผลของข้อนี้จึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของที่มาหรือการอนุมานที่ใช้
จากที่วิเคราะห์มาจะเห็นว่าการอนุมานนี้ไม่ได้มีเหตุมีผลหนักแน่นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะข้อสันนิษฐานที่ใช้ไม่ได้มีความรัดกุมมีเหตุผลเพียงพอ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติความเป็นเหตุเป็นผลของคำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะโดยจารีตปฏิบัติแล้วระบบจะไม่ปล่อยให้คำถามเรื่องความน่าเชื่อถือในประเด็นนี้เกิดขึ้น
13. อย่าโดนลวงด้วยภาษา
การพัฒนาทักษะข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันเพราะเรากำลังถูกท่วมทับด้วยสื่อต่าง ๆ และอาวุธสำคัญที่สุดของสื่อก็คือ ภาษา กล่าวได้ว่าความจริงต่าง ๆ ที่เรารับรู้ถูกกำหนดด้วยภาษา ถ้าเราไม่ระวังหรือรู้ไม่เท่าทันเราก็จะถูกบงการโดยบุคคลผู้ใช้ภาษานั้น14
อันที่จริงมีเรื่องที่ต้องพูดกันมากในเรื่องภาษา ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ดังนี้
- คำแต่ละคำเมื่อถูกใช้จะมีทั้งความหมายตรง (denotation) และความหมายโดยนัย (connotation) ถ้าไม่เข้าใจนัยยะที่แฝงอยู่ในคำการตีความก็จะผิดพลาด หรือในการใช้คำบางครั้งก็แฝงไว้ด้วยความหมายที่ไม่ได้พูดถึง ตัวอย่างเช่น “ฉันรักคุณ” ความจริงอาจหมายถึง ฉันรักคุณ (จนกว่าฉันจะพบคนที่ดีกว่า)
- การใช้ภาษาเต็มไปด้วยการอุปมาอุปมัยที่ทำให้สิ่งที่เข้าใจยากกลายเป็นภาพที่เห็นได้ง่ายขึ้น การใช้วาทศิลป์เช่นนี้บางครั้งก็เปลี่ยนแปลงความหมายที่แท้จริง หรือสร้างภาพที่บิดเบือน ตัวอย่างเช่น ในมิลินทปัญหามีการใช้คำว่า นิพฺพานนครํ (เมืองแห่งนิพพาน) และ กมฺมมูลํ (กรรมคือเงินตรา)
- ภาษาไม่ได้ใช้แสดงข้อเท็จจริงอย่างเดียวอย่างประโยคบอกเล่าทั่วไป เราสามารถใช้ภาษาในการถามคำถาม ในการให้สัญญา ในการตั้งชื่อ ในพิธีกรรม ในการทักทาย และอื่น ๆ ถ้าเราตีความหมายผิดการสื่อสารก็จะผิดพลาด เช่น “จานยังไม่ได้ล้าง!” อาจจะเป็นการบอกเล่า หรือคำถาม หรือคำสั่ง หรือการตำหนิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทที่เกิดขึ้น
- คำที่ถูกใช้บ่อยจะมีผลต่อการรับรู้ความจริงของเรา อันนี้เป็นเทคนิคสำคัญของการโฆษณา ยิ่งเราเห็นโฆษณาอันไหนบ่อยเราจะยิ่งเชื่อว่าโฆษณาที่ว่านั้นเป็นจริง ตัวอย่างอีกอันหนึ่งที่คนมักจะไม่ค่อยเห็น คือการใช้ภาษาไทยแปลพระไตรปิกฎไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีชนชั้นได้ ทำให้ภาพสังคมสมัยพุทธกาลที่เราเห็นเป็นภาพสะท้อนของชนชั้นตามสังคมไทย ถ้าเราดูที่ภาษาบาลีโดยตรงจะเห็นความเป็นชนชั้นของภาษาน้อยกว่า เช่น ‘ฉัน’ มีใช้เพียงคำเดียวคือ อหํ ขณะที่ภาษาไทยแทนด้วยคำหลายคำขึ้นอยู่กับสถานะของผู้พูดกับผู้ฟัง ด้วยเหตุผลนี้ผู้เขียนจึงสนับสนุนให้ผู้สนใจอ่านพระไตรปิฎกจากบาลีโดยตรง หรืออย่างน้อยให้อ่านจากฉบับแปลภาษาอังกฤษ อย่างนี้ท่านจะเห็นภาพตรงตามความเป็นจริงมากกว่า
สรุป
ที่ว่ามาทั้งหมดมาจาก 13 วันแรกของ 30 Days to Better Thinking and Better Living Through Critical Thinking ของ Linda Elder กับ Richard Paul แต่ผู้เขียนสรุปและเพิ่มรายละเอียดที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเข้าไป ที่เหลืออีก 17 ข้อไม่ได้เกี่ยวกับการคิดโดยตรงและสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายด้วยสามัญสำนึก ผู้สนใจขอให้อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือนั้น ในที่นี้จะขอยกเพียงหัวข้อที่เหลือมาดังนี้
14. เมื่อได้ข้อสรุป คิดอีกครั้ง
15. ยุติธรรม ไม่เห็นแก่ตัว
16. ควบคุมอารมณ์ตัวเอง
17. ควบคุมความต้องการของตัวเอง
18. อย่าทำตัวเหนือกว่าคนอื่น
19. อย่าทำตัวด้อยเป็นผู้ตามตลอดเวลา
20. ระวังถูกล้างสมองโดยสื่อ
21. เลือกข้อคิดที่ได้จากสื่ออย่างระมัดระวัง
22. อย่าถูกลวงโดยนักการเมือง
23. อย่าเป็นคนช่างติ
24. อย่าเคร่งเกินไป มีความปราณี
25. ไม่ใช้เวลาไปกับการกังวล
26. เป็นประชาชนของโลก
27. ทำอะไรก็ได้ให้โลกดีขึ้น
28. เห็นการพัฒนาของตนเอง
29. ทำตัวเองให้มีความรู้
30. มองต่อไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น
เชิงอรรถ
-
อ้างใน Alec Fisher, 2011, Critical Thinking: An Introduction, 2nd ed., Cambridge University Press, p. 4. ↩
-
ฝรั่งเขามีองค์กรหนึ่งเรียกว่า Flat Earth Society มีสมาชิกที่ยังยืนยันว่าโลกแบนอยู่ ↩
-
ดัดแปลงตัดทอนจาก 30 Days to Better Thinking and Better Living Through Critical Thinking: A Guide for Improving Every Aspect of Your Life เขียนโดย Linda Elder กับ Richard Paul (2013) โดยหัวข้อกับแนวคิดพื้นฐานคล้ายกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน ↩
-
คำว่า ‘โง่’ อาจจะดูกร้าวร้าวไปนิด แต่มันตรงความหมายที่สุด เพราะมันไม่ใช่เพียงความไม่รู้ (ignorance) แม้เราจะรู้อะไรมากมายแต่ไม่รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ หรือใช้ผิดวิธีจนเสียของ เรียกว่า ‘โง่’ ดูจะตรงกว่า ↩
-
Linda Elder and Richard Paul, 2013, 30 Days to Better Thinking and Better Living Through Critical Thinking: A Guide for Improving Every Aspect of Your Life, revised and expanded ed., Pearson Education, p. 52. ↩
-
จาก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เขียนไว้เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2493 ใน ชุมนุมข้อคิดอิสระ โดยพุทธทาสภิกขุ พ.ศ. 2499 ธรรมสภา ↩
-
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎแห่งกรรมตามนัยของพุทธศาสนาไม่ได้เป็นกฎธรรมชาติเหมือนกฎทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นกฎที่กำหนดขึ้น (คล้ายกฎหมาย) เพื่อจุดประสงค์ทางด้านศีลธรรม ↩
-
ศึกษาเพิ่มเติมใน ความผิดพลาดที่พบบ่อยในการใช้เหตุผล ↩
-
ผู้เขียนอยากจะเพิ่มว่าแม้พระพุทธเจ้าก็ยังเคยคิดหรือตัดสินใจผิด แต่กลัวคนส่วนใหญ่จะเคืองเอา ศึกษาเพิ่มเติมใน เข้าใจสัพพัญญูให้ถูกต้อง ผู้ที่อยากจะรู้ด้วยตัวเองลองไปศึกษาวิจัยที่มาของปาราชิกข้อสาม (ห้ามฆ่ามนุษย์) ↩
-
เมื่อเห็นว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมชาติ คือเป็นสิ่งที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความคิดที่จะพ้นสภาพเกิดแก่เจ็บตายจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผล เป็นจินตนาการเพ้อฝัน แม้นักบวชก็อาจไม่พ้นสภาพแก่เจ็บและตาย ประเด็นเรื่องนี้มีความลึกซึ้งมาก เป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถาม ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของคัมภีร์ทางศาสนาจะเห็นว่า เหตุการณ์ที่อธิบายในคัมภีร์มักจะส่งเสริมกันและกัน เพื่อรักษาความมีเหตุผลของหลักการและจุดยืนของนิกาย แต่บางครั้งความพยายามที่จะหาเหตุผล (rationalize) ให้กับเรื่องบางเรื่องนำไปสู่ความไร้เหตุผล (unreasonable) ในที่สุด ↩
-
เราอาจจะแปล justified ว่ามีข้อพิสูจน์หรือมีที่มาที่ไป และแปล unjustified ไปในทางตรงข้าม ผู้เขียนขอใช้คำง่าย ๆ ว่า มีเหตุผล กับ ไร้หรือไม่มีเหตุผล นั่นคือ justified = reasonable และ unjustified = unreasonable ↩
-
กล่าวได้ว่าข้อสันนิษฐานเป็นการทำงานของการคิดระบบ 1 อ่านเพิ่มเติมใน ความสำคัญของเหตุผล ↩
-
วิทยาศาสตร์เองก็ใช้ข้อสันนิษฐาน แต่เขาเรียกว่า สมมุติฐาน (hypothesis) เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้รู้อะไรทุกอย่าง สิ่งที่ไม่รู้เขาก็จะตั้งสมมุติฐานเอาไว้ ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจริง สมมุติฐานจะกลายเป็นทฤษฎีไป ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างข้อสันนิษฐานกับสมมุติฐานคือ อย่างแรกส่วนมากทำงานโดยไร้สำนึก (ระบบ 1) ส่วนอย่างหลังเป็นการเกิดจากการไตร่ตรองอย่างมีระบบและมีเหตุมีผล (ระบบ 2) ↩
-
วรรณกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ Nineteen Eighty-Four (1984) ของ George Orwell โดยเฉพาะตอนที่บรรยายเกี่ยวกับ newspeak ↩